EGCO Group โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค” จ.ชัยภูมิ เป็นแหล่งเรียนรู้นิเวศวิทยาถิ่นอีสาน ชูไฮไลท์หินร้อยล้านปี

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า พัฒนา “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค” ระยะทาง 2.66 กิโลเมตร พร้อม Trail Head ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ และศาลานิทรรศการ ส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้นิเวศวิทยาและธรณีวิทยาถิ่นอีสานของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ที่มีมาตรฐาน ความแข็งแรงและปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงคุณค่าของป่าและประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของเขาหินทรายอายุกว่า 125 ล้านปี จนเกิดจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนในทุกพื้นที่ โดยพิธีส่งมอบเส้นทางฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 โดยมีนายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า “จากความเชื่อที่ว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” EGCO Group ให้ความสำคัญกับการร่วมดูแลและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง โดยได้ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 22 ปี หนึ่งในภารกิจของมูลนิธิฯ คือ การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าถึง สัมผัส และเรียนรู้คุณค่าของป่าต้นน้ำและธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เกิดความตระหนักและจิตสำนึกในการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

มูลนิธิฯ และอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ผาหัวนาค ในการเป็นอีกหนึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่สามารถเดินป่าท่องเที่ยวได้ง่ายและสะดวก ควบคู่กับการเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศที่สะท้อนคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะป่าบนพลาญหินอายุกว่า 125 ล้านปี ซึ่งล้วนแต่มีสังคมพืชที่แตกต่างกัน

“ในปี 2567 EGCO Group และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า จึงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ระยะทาง 2.66 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีมาตรฐาน แข็งแรง เดินง่าย และปลอดภัย ด้วยจุดมุ่งหมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึง เข้าใจ เรียนรู้ธรรมชาติและสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและมีคุณค่าเฉพาะตัวอย่างใกล้ชิด ผ่านป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดแนวเส้นทางฯ โดยได้จัดทำ Trail Head บริเวณทางเข้าเส้นทาง ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ 14 จุด และป้ายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณ 5 จุด รวมถึงได้สร้างศาลา “เฮือนเบิ่งตะเว็น” ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าที่มาและสะท้อนคุณค่าของเส้นทางฯ และเป็นที่พักปลายทางให้นักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของพื้นที่ราบเกษตรสมบูรณ์และภูเขียวอีกด้วย นอกจากนี้ เส้นทางฯ ยังถูกออกแบบให้ครอบคลุมเส้นทางลาดตระเวนและแนวกันไฟป่า ด้วยเจตนาที่ว่า หากพื้นที่มีการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง และในอนาคตเรามีแผนที่จะอบรมและส่งเสริมให้ชุมชนและเยาวชนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยวเส้นทางฯ นี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่อย่างยั่งยืน” ดร.จิราพร กล่าว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ EGCO Group และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย แข็งแรง และสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564 – 2569 นั้น ถือได้ว่า EGCO Group และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนภารกิจของกรมอุทยานฯ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ต.ท่าหินโงม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเส้นทางฯ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โทร. 093 093 9193 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถแวะเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ด้วย เช่น “มอหินขาว” (ห่างจากเส้นทางฯ ประมาณ 2.2 กม.) “กลุ่มหินโขลงช้าง” (ห่างจากเส้นทางฯ ประมาณ 1.2 กม.) “จุดชมวิวผาหัวนาค” (ห่างจากเส้นทางฯ ประมาณ 300 ม.) เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ