“ภูเก็ต” คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
โดยรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจคือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเวนต์และเทศกาลในระดับโลก และนอกจากนี้ “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้
การได้รับรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเมืองนั้นจะต้องเป็นเมืองที่มีจำนวนเทศกาลมากที่สุด หรือเป็นเมืองที่จัดเทศกาลสนุกสนานที่สุด แต่ต้องย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ โดยในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้น ภูเก็ตกำลังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเหมืองแร่ดีบุก ทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาต่างอพยพเข้ามาทำงาน ค้าขายและตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในแหลมมลายู ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน , อาหาร, วิถีชีวิต, ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวไทยพุทธและชาวมลายูในเวลาต่อมา โดยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของภูเก็ตอย่างดีที่สุด คงจะหนีไม่พ้น “ประเพณีถือศีลกินผัก”
ประเพณีถือศีลกินผัก เกิดขึ้นเมื่อในวันหนึ่งมีคณะงิ้วรับจ้างจากโพ้นทะเลเดินทางมาแสดงงิ้วให้แรงงานชาวจีนฮกเกี้ยนเหมืองแร่ดีบุกในเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับชม แต่หลังจากปักหลักแสดงงิ้วที่นี่อยู่ได้ไม่นาน กลับมีชาวคณะงิ้วล้มป่วยลง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะคณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือ “พิธีถือศีลกินผัก” ต่อมา คณะงิ้วตัดสินใจทำพิธีถือศีลกินผักอย่างเรียบง่าย เพื่อขอขมาและบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาธิราชแห่งดวงดาวต่าง ๆ ทั้ง 9 องค์ พร้อมกับงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และสุรา เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ 1 – 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ผลปรากฏว่า หลังทำพิธีเสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พิธีนี้แพร่หลายไปทั่วเมืองและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา กลายเป็นประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบัน
เทศกาลถือศีลกินผัก เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจให้บริสุทธิ์ ผ่านพิธีกรรมและความศรัทธา ทำให้ตลอดทั้งเทศกาลจะเต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาของชาวภูเก็ตที่สืบทอดกันมายาวนาน ประเพณีถือศีลกินผักจึงถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตที่ในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียว และจะจัดยาวนานต่อเนื่องถึง 9 วัน โดยภูเก็ตที่ได้รับรางวัลเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ได้ร่วมรังสรรค์อาหารเจหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารเจแบบต้นตำรับ และสไตล์ฟิวชันที่ผสมรสชาติความเป็นจีนฮกเกี้ยน ไทย และมลายู พร้อมเหล่าเชฟจากร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ หลายร้าน ต่างพากันรังสรรค์อาหารจานผักขึ้นมาอย่างพิถีพิถันให้นักท่องเที่ยวและคนพื้นที่ได้อิ่มอร่อยตลอดงาน
นอกจากจะได้ชำระกายและจิตใจให้บริสุทธิ์แล้ว เทศกาลถือศีลกินผักยังมีส่วนช่วยให้เมืองได้ประโยชน์ไปพร้อมกัน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ตกว่า 650,000 คน สร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่สูงถึง 5,750 ล้านบาท พร้อมทั้งก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวภูเก็ตอีกกว่า 4,500 ตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งในส่วนการโรงแรม ค้าขายและการขนส่งได้จำนวนมาก
สำหรับใครที่สนใจสามารถเข้าร่วมเทศกาลเทศกาลถือศีลกินผักได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 – วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ จ.ภูเก็ต