สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเพชรบุรีและสภาอุตสาหกรรมเพชรบุรี จัดงาน “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” ตอน “รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดดด” มุ่งเน้นการสร้างภาพ ลักษณ์และสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับอาหารท้องถิ่นเพชรบุรี พร้อมทั้งตอกย้ำให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่มองเห็นว่าเพชรบุรี “มีดี” เรื่องอาหารอย่างไร พร้อมหยิบยก “ของดี” มาต่อยอดให้เกิดมูลค่า คุณค่า และโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและขับเคลื่อนเพชรบุรีในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารภายใต้เครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ในระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2567 ณ ร้านหยวน หยวน สุกี้หม่าล่าสายพาน อาคารเคเบิ้ลคาร์ พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “หลายคนคงทราบกันดีว่าจังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 3 รส” ทั้งรสเปรี้ยวจากมะนาว รสหวานจากน้ำตาลโตนด และรสเค็มจากเกลือทะเล แต่ที่จริงแล้วเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีมากกว่า 3 รส และยังมีรสอื่น ๆ อีกมากมายที่หลายคนอาจยังไม่ทราบและยังไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก ซึ่งล้วนมาจากวัตถุดิบคุณภาพและภูมิปัญญาด้านการปรุงอาหารที่หลากหลายที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นิทรรศการในวันนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอและบอกเล่า “รสเพ็ดรี” ในวิถีแบบคนเพ็ดรีที่หลายคนอาจยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ผ่าน 7 เมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นเสน่ห์ทางด้านรสชาติวัฒนธรรมการทำอาหาร และที่สำคัญคือวัตถุดิบที่หลากหลายและล้วนมีคุณภาพจากทั้ง 8 อำเภอของเพชรบุรี อันเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาสในการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรมด้านอาหารของเพชรบุรีให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเพชรบุรี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2564 โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ร่วมผลักดันกิจกรรมการต่อยอดอัตลักษณ์และการนำเสนออาหาร “รสเพ็ดรี” ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างภาพจำใหม่ให้กับอาหารและรสชาติท้องถิ่นของเพชรบุรี ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักรสชาติที่แท้จริงของเพชรบุรี อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าที่เชื่อมโยงการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชน บนพื้นฐานของการนำเสนออัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีมาอย่างต่อเนื่อง”
นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เผยว่า “CEA เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกทุกเมืองในประเทศไทย รวมถึงจังหวัดเพชรบุรี ปีนี้เราได้จัดกิจกรรม “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” ตอน “รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดดด” ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเพชรบุรีและสภาอุตสาหกรรมเพชรบุรี เพื่อสานต่ออัตลักษณ์ของอาหารเมืองเพชรบุรีให้เกิดเป็น “รสเพ็ดรี” กิจกรรมนี้ CEA บอกเล่าถึงความโดดเด่นและความพิเศษของวัตถุดิบที่หลากหลายของอาหารเพชรบุรี ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ครีเอตเป็นกิจกรรมถ่ายทอดอาหารผ่าน “สายพาน” แห่งวัฒนธรรมการกินร่วมสมัย เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ลิ้มรสชาติ สัมผัสวิถีแห่งการกิน พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของจังหวัดและของดีด้านอาหารเมืองเพชรบุรี เสมือนกับได้ท่องเที่ยวทั่วทั้งจังหวัดผ่านมุมมองด้านอาหาร สร้างความภาคภูมิใจและความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับคนเพชรบุรี รวมถึงกระตุ้นการบริโภคอาหารท้องถิ่น นอกจากนี้ยังสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้เห็นว่าเพชรบุรี “มีดี” เรื่องอาหาร และนำ “ของดี” ที่มีมาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่า คุณค่า โอกาสทางเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ของเมือง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของผู้คนในจังหวัด”
นิทรรศการ “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” ตอน “รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดดด” นับเป็นครั้งแรกของนิทรรศการสร้างสรรค์ด้านอาหาร ที่เสิร์ฟความอร่อยผ่านสายพาน ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสประสบการณ์การกินอย่างลึกซึ้ง ทั้งการชิมรสอาหาร ชมวัตถุดิบ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และอาหารท้องถิ่นของเพชรบุรี
ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดดด” ใน 4 ด้าน ได้แก่
- “อวดดี” โชว์ขุมทรัพย์ผลผลิตทางภูมิศาสตร์และวัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น น้ำตาลโตนด
เกลือสมุทร มะนาวแป้น พริกกะเหรี่ยง และอาหารทะเลสด - “อวดเก่ง” นำเสนอวัฒนธรรมภูมิปัญญาอันรุ่มรวยจากหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจากไทย จีน มุสลิม และมอญ ผ่านการปรุงอาหารและการใช้วัตถุดิบทั้งจากในวังและชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
- “อวดฉลาด” ต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมด้านอาหารเชิงสร้างสรรค์ที่สะท้อนความทันสมัย โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการรังสรรค์เมนูที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม
- “อวดรวย” เมื่อผนวกทั้งสาม “อวด” เข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านการนำเสนอจุดเด่นของอาหารเพชรบุรีในรูปแบบใหม่ พลิกโฉมมุมมองอาหารเพชรบุรี ต่อยอดคุณค่าทางวัฒนธรรมและความเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก “ก่อนไม่มีให้อวด” ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเปิดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดสากล โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าของอาหารท้องถิ่นและวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์
นิทรรศการ “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” นำเสนอ 2 กิจกรรมหลัก ดังนี้
1) กิจกรรมสัมผัสความอร่อยของอาหารและรสชาติแบบ “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” โดยนำเสนอ
7 เมนูที่สร้างสรรค์โดยเชฟเปอร์โยต์-กิจณรงค์ จันทร์ปลูก เจ้าของร้านรัญจวนใจ และคุณแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Food Curator เจ้าของเพจ Pear Is Hungry สะท้อนวิถีการกินแบบคนเมืองเพชร และรสเพ็ดรีที่ไม่ได้มีดีแค่
3 รส (รสหวานจากน้ำตาลโตนด รสเปรี้ยวจากมะนาวแป้น รสเค็มจากเกลือสมุทร) โดยทุกเมนูใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงซึ่งเป็น “ของดี” ของเพชรบุรีเอง สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมในระหว่างวันที่ 19 – 22 กันยายน 2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้
- วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน รอบ 19.00 – 20.00 น.
- วันศุกร์ที่ 20 กันยายน รอบ 19.00 – 20.00 น.
- วันเสาร์ที่ 21 กันยายน รอบ 19.00 – 20.00 น.
- วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน รอบ 11.00 – 12.00 น. | 13.00 – 14.00 น. | 18.00 – 19.00 น.
*จำกัดการเข้าร่วมรอบละ 30 ท่าน จำนวน 6 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม 250 บาท/ท่าน (เป็นค่าวัตถุดิบสำหรับมื้ออาหารจำนวน 7 เมนู และเครื่องดื่ม)
สำรองที่นั่งได้ที่: https://forms.gle/skGiyysD97xoUL8U9
2) นิทรรศการ “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” ที่รวบรวมข้อมูลและแหล่งติดต่อวัตถุดิบคุณภาพจากจังหวัดเพชรบุรีที่นำมาใช้รังสรรค์เมนูทั้ง 7 เมนู เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจอาหารของตนเอง โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นกับนักลงทุน เพื่อพัฒนาวัตถุดิบและเมนูให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ (Signature Product) ประจำจังหวัดเพชรบุรี มุ่งขับเคลื่อนเพชรบุรีสู่การเป็นครัวโลก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศด้านอาหารของเพชรบุรีให้เติบโตอย่างยั่งยืน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดในอนาคต
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่างาน “รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน” จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่นำพาเพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก ก้าวสู่เส้นทางสายอาหารที่จะยังประโยชน์ให้แก่ระบบนิเวศอาหารท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของเพชรบุรีให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับกระตุ้นให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงคุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาให้ยังคงอยู่ได้ต่อไปและต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าและคุณค่าในอนาคต” นายพิชิต กล่าวทิ้งท้าย