บพข. เร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิจัยจัดทำมาตรฐาน GBAC Star เพิ่มความเข้มงวดสุขอนามัยด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ พร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ นำร่อง 9 สถานประกอบการแบบอย่างการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงกว่า 2.5 ล้านล้านบาท และมีการจ้างงานสูงถึง 4.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในภาคเศรษฐกิจนี้ก็มีความเปราะบางสูง เห็นได้จากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง และลุกลามไปกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
ดังนั้น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จึงได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้สนับสนุนงบวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือหาแนวทางใหม่ ๆ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ
โดยล่าสุด อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” และยังเป็นนักวิจัยจาก บพข. โดยโครงการฯ นี้ มีความโดดเด่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จึงทำให้เป็น 1 ใน 13 โครงการจากทั้งหมด 1,600 โครงการ ที่ได้รับรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ
สำหรับจุดเด่นของโครงการนี้ อาจารย์นวลสมร กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้ใช้มาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมในธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหมด และไม่เป็นที่นิยมในระดับสากล ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อยู่ภายใต้สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association ของสหรัฐ ที่ตั้งมายาวนานกว่า 100 ปี จึงทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
จากการศึกษาพบว่ามาตรฐาน GBAC Star เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะเน้นในด้านการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อปลอดภัยถูกสุขลักษณะในทุกระบบ รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของสถานประกอบการ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่สามารถเข้าถึงมาตรฐานนี้ได้ และยังเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด เริ่มตั้งแต่สนามบิน รถรับส่งนักท่องเที่ยว เรือนำเที่ยว โรงแรม และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สปา มวยไทย และห้องประชุมสัมมนา จึงทำให้ทุกสถานประกอบการมารวมกันเป็นระบบนิเวศการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อมในการรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC Star และมีตราสัญลักษณ์นี้ จะเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ
สำหรับภาพรวมในปัจจุบันประเทศไทยมีสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน GBAC Star จำนวน 9 แห่ง เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ของไทย แต่ในระดับสากลได้รับความนิยมมาก โดยในสหรัฐมีสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐานนี้กว่า 1 พันแห่ง รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไทย โดยหลังจากนี้ จะส่งเสริมให้สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้เข้าถึงมาตรฐาน GBAC Star ให้ได้มากที่สุด โดยมีองค์กรต้นแบบระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของ ASEAN, อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรกที่อยู่นอกทวีปอเมริกา, สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา,นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา, เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของ ASEA, บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา, ไทเกอร์มวยไทย การรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย, ป่าตองเบย์วิว ผ่านการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเกาะยาวใหญ่วิลเลจ