องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ส่งชุมชนท่องเที่ยวจากพื้นที่พิเศษสุโขทัย คว้ารางวัล PATA Gold Awards 2024 สาขารางวัลด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือโดยธรรมชาติ และ สาขารางวัลด้านวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ ตอกย้ำความสำเร็จจากความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานชุมชนท่องเที่ยว สนับสนุน การเสนอแหล่งท่องเที่ยวไทยประกวดรางวัลระดับนานาชาติ ตอบโจทย์นโยบาย Ignite Tourism Thailand ส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวของไทย
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย พี่น้องชาวสุโขทัย กำแพงเพชร และ อพท. อย่างยิ่งที่ชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับการพัฒนาและส่งเข้าประกวดรางวัล PATA Gold Awards 2024 ซึ่งเป็นรางวัลที่มีมาตรฐานระดับสากลและมอบให้แก่ผลงานโครงการด้านการท่องเที่ยวในหลากหลายสาขาที่มีผลงานดีเด่นและประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยชุมชนในพื้นที่พิเศษที่ อพท. ส่งเข้าประกวดและได้รางวัลในปีนี้ คือ
1) ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประเภทมรดก: มรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือโดยธรรมชาติ (Heritage – Manmade or natural cultural inheritance) ผลงาน “การต่อยอดแรงบันดาลใจจากมรดกเครื่องสังคโลกโบราณจากรุ่นสู่รุ่น” ซึ่งคนไทยทราบกันดีว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัยโบราณสืบทอดวิทยาศาสตร์และศิลปะจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลากว่า 700 ปี เป็นที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2534 และเครื่องปั้นดินเผา “สังคโลก” มีชื่อเสียงโด่งดังและกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอดีต สืบทอดภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น ข้ามอาณาจักรและกาลเวลา และ 2) ชุมชนไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร ประเภทวัฒนธรรม: การแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ (Culture -Traditional performance and visual arts) ผลงาน “การรื้อฟื้นศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนไตรตรึงษ์ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากไตรตรึงษ์เป็นชุมชนโบราณที่รุ่งเรืองและมีร่องรอยอารยธรรม เป็นสถานที่เรียนรู้และมีศิลปะการแสดงโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์จากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี และ อพท. ได้นำรูปแบบและมาตรฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมชุมชนส่งเสริมศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมในการท่องเที่ยว เช่น ระบำ ก.ไก่ และระบำคล้องช้าง ซึ่งมาจากชีวิตประจำวันในท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่สนุกสนาน สร้างโอกาสสร้างอาชีพและกระจายรายได้อย่างยุติธรรมในชุมชน และเป็นการขับเคลื่อนชุมชนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวย้ำว่า การได้รับรางวัลในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเครื่องหมายยืนยันความสำเร็จและความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยวให้ยั่งยืน โดยยึดหลักแนวคิดในการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Co-Creation& Co-Own) ส่งผลลัพธ์ชุมชนทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีความโดดเด่นและเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ อพท. ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) และหนุนเสริมยกระดับด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ร้อยเรียงเรื่องราวสู่การเป็นเรื่องเล่าเสนอเข้าชิงรางวัล PATA Gold Awards ซึ่ง อพท. คัดสรรชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เข้าประกวดในรางวัลนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปีมาแล้ว และยังคงเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขยายผลสู่การเป็น “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ต่อไป