รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองในช่วงโลว์ซีซัน (Low Season) ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567 โดยสามารถนำค่าที่พัก ค่าไกด์ มาหักลดหย่อนภาษีได้ ทาง Dataxet ได้รวบรวมข้อมูลจังหวัดเมืองรอง และมาตรการภาษีมาให้แล้ว
สำหรับรายชื่อจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือ เมืองรองมีทั้งหมด 55 จังหวัด อ้างอิงจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 757) พ.ศ 2565 แยกตามรายภาคได้ ดังนี้
ภาคเหนือ 16 จังหวัด
กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด
กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี
ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 12 จังหวัด
จันทบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
ภาคใต้ 9 จังหวัด
ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง และสตูล
มาตรการภาษีหนุนเที่ยวเมืองรอง
ครม. เคาะมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นภายในประเทศในช่วงโลว์ซีซัน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567
ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และ 2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
มาตรการภาษีสำหรับนิติบุคคล
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาที่จ่ายไปในช่วงวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
1) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
2) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาในพื้นที่อื่น นอกเหนือจากข้อ 1) (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
3) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด เนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อเนื่องกัน และให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตาม 1) หรือ 2) แล้วแต่กรณี
มาตรการภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา
ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น