คณะกรรมการจัดการประชุมว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวมณฑลจี๋หลิน
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม งานแถลงข่าวจัดการประชุมว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวมณฑลจี๋หลิน (Jilin Provincial Tourism Development Conference) ได้จัดขึ้น ณ เมืองฉางชุน โดยมีการประกาศว่าการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในเขตอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาฉางไป๋ซาน (Changbaishan Reserve and Development Zone) ในมณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายนนี้
คุณเกา เฟย (Gao Fei) ผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาฉางไป๋ซาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลมณฑลจี๋หลินตัดสินใจจัดการประชุมครั้งแรกที่ฉางไป๋ซาน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความเอาใจใส่และให้การสนับสนุนฉางไป๋ซานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังตอกย้ำว่าฉางไป๋ซานเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑลจี๋หลิน โดยฉางไป๋ซานตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์และการผสมผสานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่านับล้านล้านหยวนของมณฑลจี๋หลิน และก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก
น้ำแข็งบนทะเลสาบเทียนฉือ (Tianchi Lake) บนเทือกเขาฉางไป๋ซานที่ละลายหายไปในเดือนพฤษภาคม ก็เปรียบได้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑลจี๋หลินที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง
เทือกเขาฉางไป๋ซาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวมณฑลจี๋หลิน ได้รับการยกย่องในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว “แบรนด์ทองคำ” ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยในปี 2566 สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามแห่งนี้มีผู้มาเยือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.7477 ล้านคน หรือพุ่งขึ้น 260.45% เมื่อเทียบเป็นรายปี
เทือกเขาฉางไป๋ซานเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของมณฑลจี๋หลิน และช่วงวันหยุดยาววันแรงงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “เทือกเขาสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะ” แห่งนี้ มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็น “สถานที่ท่องเที่ยวที่คึกคักตลอดทั้งปี”
จากการประมาณการในช่วงวันหยุดยาวพบว่า มณฑลจี๋หลินต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 18.363 ล้านคน เพิ่มขึ้น 118.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี และกวาดรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.747 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 160.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวจากนอกมณฑลสูงถึง 35.6% ซึ่งเพิ่มขึ้น 17 จุดเมื่อเทียบกับช่วงวันหยุดยาววันแรงงานเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ สนามบินที่พลุกพล่านยังสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากความพยายามเชิงรุกของมณฑลจี๋หลินในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยในช่วงวันหยุดยาววันแรงงานเมื่อเดือนพฤษภาคม ประมาณการว่าสนามบินฉางชุนรองรับเที่ยวบิน 2,070 เที่ยวบิน และขนส่งผู้โดยสาร 295,000 คน โดยมีเที่ยวบินเฉลี่ย 345 เที่ยวบินต่อวัน และผู้โดยสารเฉลี่ย 49,000 คนต่อวัน
เพื่อเพิ่มคุณภาพของการให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม มณฑลจี๋หลินได้ยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มความหลากหลายของบริการ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เสริมแกร่งการจัดการด้านความปลอดภัย และยกระดับการกำกับดูแลตลาด
ภายในปี 2568 มณฑลจี๋หลินตั้งเป้าให้บริการเส้นทางบินมากกว่า 280 เส้นทางในสนามบินทั้ง 6 แห่ง ขณะเดียวกัน คาดว่าการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเสิ่นหยาง-ไป๋ซาน (Shenyang-Baishan High-Speed Railway) จะดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนมายังฉางไป๋ซาน นอกจากนี้ จุดชมวิวทั้งหมดในมณฑลจี๋หลินจะมีสัญญาณ 5G ครอบคลุม
ตัวแทนจากสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลจี๋หลินกล่าวว่า มณฑลจี๋หลินจะนำเสนอโครงการและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการและการจัดหาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม นำโดยโครงการท่องเที่ยว “Snowy Changbaishan” และ “Refreshing Jilin at 22?C in Summer” โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมชีวิตชีวาให้กับมณฑลจี๋หลินอย่างครอบคลุมตลอดทั้งปี รวมถึงสร้างความก้าวหน้าครั้งใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
นับตั้งแต่มีการประกาศ “แผนปฏิบัติการมณฑลจี๋หลินว่าด้วยการสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าล้านล้านหยวน (พ.ศ. 2566-2568)” เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทั่วทั้งมณฑลก็มีฉันทามติร่วมกันในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบรรลุเป้าหมายในการสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าล้านล้านหยวนภายใน 5 ปี
เมื่อไม่นานมานี้ ในงานแถลงข่าวหัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน คุณหยาง อันตี้ (Yang Andi) รองผู้ว่าการมณฑลจี๋หลิน กล่าวว่า มณฑลจี๋หลินจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้วยหลัก “ทั้งหมด” รวม 5 ประการ ได้แก่ “แผนพัฒนาทั่วมณฑลทั้งหมด” (All-Region Layout), “การพัฒนาทุกฤดูกาลทั้งหมด” (All-Season Development), “การส่งเสริมห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด” (All-Industry Chain Promotion), “การพัฒนาระบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด” (All-Product System Development) และ “การสนับสนุนทุกองค์ประกอบทั้งหมด” (All-Element Support) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑลจี๋หลิน
ที่มา: คณะกรรมการจัดการประชุมว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวมณฑลจี๋หลิน