หากพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงศึกษาธรรมชาติ ถือว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจในช่วง 2- 3 ปีมานี้เนื่องจากผู้คนได้หันมาสนใจเรื่องของธรรมชาติและรักษ์โลกกันมากขึ้น และแน่นอนว่าหนึ่งกิจกรรมในการท่องเที่ยวเชิงศึกษาธรรมชาติที่หลายคนไม่พลาดก็คือการชมความสวยงามของผีเสื้อตามอุทยานต่าง ๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในช่วงระยะ 1 -2 ปีนี้ฤดูท่องเที่ยวผีเสื้อมาเร็วกว่าในอดีตรวมทั้งสิ่งมีชีวิตเล็กพวกนี้ได้ลดลงกว่าเมื่อก่อนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI องค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม จึงขอเปิดเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผีเสื้อ จิ๊กซอว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ มาฝาก
ผีเสื้อเป็นแมลงที่จัดอยู่ในอันดับ Lepidoptera โดยมีลักษณะสำคัญคือ ลำตัว ปีก ขา ที่ปกคลุมไปด้วยเกล็ด รวมถึงทีปีกสองคู่ ลักษณะเป็นแผ่นบาง ผีเสื้อในโลกนี้มีมากถึง 200,000 ชนิด แบ่งออก 3 กลุ่มใหญ่ โดยแบ่งตามพฤติกรรมการหากินและรูปร่างลักษณะ คือ ผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) เป็นพวกออกหากินตอนกลางวัน มีลำตัวเพรียว ผีเสื้อกลางคืน (Moth) ออกหากินในเวลากลางคืน มีลำตัวขนาดใหญ่ และผีเสื้อบินเร็ว (Skippers) ส่วนใหญ่จะออกหากินตอนกลางคืน และบางชนิดหากินตอนเช้ามืด
ผีเสื้อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ โดยเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็น “ตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ” เพราะผีเสื้อแต่ละชนิดมักมีแหล่งที่อยู่อาศัยและกินอาหารที่แตกต่างกัน เมื่อผีเสื้อตัวเมียถูกผสมพันธุ์จะวางไข่บนพืชที่เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อเท่านั้น เมื่อไข่ฝักออกมาเป็นตัวหนอน หนอนจะกัดกินพืชนั้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตจนกระทั่งกลายเป็นดักแด้ถึงจะหยุดกิน และพัฒนากลายเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยซึ่งดูดน้ำหวานของดอกไม้เป็นอาหาร โดยมีบางชนิดกินผลไม้เน่า น้ำเลี้ยงต้นไม้ และมูลสัตว์เปียก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผีเสื้อนั้นจะกินอาหารที่เฉพาะเจาะจง หากพืชอาหารของผีเสื้อชนิดนั้นหมดไปหรือสูญพันธุ์ผีเสื้อชนิดนั้นก็จะมีโอกาสที่สูญพันธุ์ไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผีเสื้อยังเป็นผู้ช่วยผสมเกสร (pollinators) ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยขยายพันธุ์พืชที่เป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงเป็นอาหารหลักของมนุษย์ด้วย นั่นหมายความว่าพื้นที่ใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผีเสื้อ จะพบเห็นผีเสื้อที่หลากหลายชนิด แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ในขณะเดียวกัน ผีเสื้อยังเป็นอาหารให้กับบรรดานกและสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย ผีเสื้อจึงมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในระบบห่วงโซ่อาหารด้วยผีเสื้อกลางวัน มีสีสันสดใส เด่นสะดุดตา มีรูปร่างที่สวยงาม และมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ตามแอ่งโคลนหรือดินแฉะ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติและความสวยงามของผีเสื้อ แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่มักพบเห็นผีเสื้อจำนวนมากบินวนเวียนอวดโฉมอยู่เป็นประจำ อีกหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความนิยม และจัดให้มี “ฤดูกาลดูผีเสื้อ” เป็นประจำทุกปี คือที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หนึ่งในผืนป่ามรดกโลก ซึ่งพบผีเสื้อนานาชนิดกว่า 250 ชนิด โดยพบได้มากมายในช่วงฤดูร้อนตามโป่งต่าง ๆ
ด้วยบทบาทของผีเสื้อมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ปัจจุบันกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อน เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและดูแลรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อให้ยังคงสภาพที่ดีได้ รวมถึงสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในการชมผีเสื้อที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งทำได้โดยไม่จับ สัมผัส ให้อาหารหรือรบกวนผีเสื้อและไม่เก็บผีเสื้อหรือปีกผีเสื้อกลับมา เดินทางด้วยความเงียบสงบ ระมัดระวังไม่เดินเหยียบผีเสื้อหรือทำให้แหล่งน้ำเกิดความสกปรก ไม่ส่งเสียงรบกวน สวมใส่เสื้อผ้าสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ลดการเกิดขยะด้วยการใช้เท่าที่จำเป็น แยกประเภท และนำไปให้ถูกที่ ตลอดจนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่อย่างเคร่งครัด #สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย #TEI #ท่องเที่ยวชมผีเสื้อ
เรียบเรียงโดย น.ส. ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล:
- ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาราชภัฎยะลา
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์
- บทความ: การตอบสนองของผีเสื้อแพนซีบางชนิด (Lepidoptera: Nymphalidae: Junonia) ต่อสภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น
- บทความ: “เมษาหน้าหนาว”ส่งผลให้ผีเสื้อทุ่งใหญ่ตายเกลื่อน ปรับตัวไม่ทันอากาศแปรปรวน
- บทความ: โลกร้อนเพราะมือเรา : ผีเสื้อใกล้สูญพันธุ์