ปิดฉากอย่างสมเกียรติ สำหรับการแสดงโขนประกอบแสงสีครั้งประวัติศาสตร์ เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” ณ วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา โดย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จัดแสดงเมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกือบ 15,000 รายจากทุกสารทิศ รวมถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางเข้าชมการแสดงสุดยิ่งใหญ่นี้พร้อมได้รับประสบการณ์สุดประทับใจที่ยากจะหาชมได้ทั่วไป ซึ่งนับว่าบรรลุวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “ในนามของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโครงการ “ราตรีนี้ที่วัดไชยวัฒนาราม” ที่ประสบผลสำเร็จและต่อเนื่องมาถึงการจัดแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” นี้ การได้เห็นประชาชนหลายพันคนให้ความสนใจและมาร่วมชมการแสดง เป็นมากกว่าความปลื้มปีติ เพราะไม่ใช่แค่ความสำเร็จของการจัดงาน แต่ยังแสดงให้เห็นว่าทุกท่านเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยกันเป็นอย่างดี และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ได้ร่วมกันทำงานที่สร้างสรรค์เช่นนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไป”
การแสดงโขน ชุด “สัจจะพาลี” ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างท่วมท้น รวมถึงได้รับเกียรติจาก มร. โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าชมการแสดงในวันแรกอีกด้วย การแสดงสุดประทับใจนี้จัดขึ้นสองวันและมีผู้เข้าชมเกือบ 15,000 คนเดินทางไปยังวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา และต่างได้รับความประทับใจและชื่นชมกับการแสดงที่จัดเตรียมมาอย่างวิจิตรไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ทีมนักแสดงที่แสดงได้อย่างงดงาม รวมถึงฉากและเทคนิคแสง สี เสียง สุดตระการตา ที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้องตลอดการแสดง โดยมีเนื้อหากล่าวถึงพระอิศวรมอบบำเหน็จความชอบแก่พญากากาศที่ชะลอเขาพระสุเมรุที่เอนทรุดให้ตั้งตรงได้ โดยประทานนามให้ว่า “พญาพาลีธิราช” และประทานตรีเพชรสุรกานต์ให้เป็นอาวุธประจำกายแล้วประทานพรว่า เมื่อต่อสู้ให้ได้กำลังศัตรูแบ่งมาสมทบครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงออกพระโอษฐ์ฝากผอบบรรจุนางเทพดาราไปประทานแก่สุครีพน้องชาย แต่พระนารายณ์ซึ่งเฝ้าอยู่ด้วยทูลทัดทานว่าไม่ควรฝากสตรีงามไปกับบุรุษ เกรงจะไม่ถึงมือสุครีพ เมื่อพาลีได้ยินจึงกล่าวถวายสัตย์สาบาน ว่าหากตนคิดทรยศน้องชายขอให้ตายด้วยศรพระนารายณ์แล้วนำผอบเหาะกลับไปเมืองขีดขิน เมื่อมาถึงพาลีเฝ้าแต่ครุ่นคิดด้วยความสงสัยว่านางในผอบจะงดงามเพียงใดจึงเปิดออกดูเห็นความงามของนางเทพดารา บันดาลให้ลืมคำสัตย์สาบานต่อพระนารายณ์ เข้าเล้าโลมเกี้ยวพานจนได้นางเทพดาราเป็นชายา จนพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามและได้ทวงสัตย์สาบานที่พาลีให้ไว้
นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า “การแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่สำนักการสังคีตภาคภูมิใจ พวกเราทั้งหมดรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง และทีมนักแสดงกว่า 300 ชีวิตล้วนตั้งใจและประณีตในการเตรียมงานเพื่อถ่ายทอดความพิเศษของการแสดงครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมทุกท่านที่ตั้งใจเดินทางมาได้รับชมกันอย่างสนุกสนานและรับรู้ถึงความงดงามของศิลปะไทย ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรายกโรงโขนมาแสดงที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งถือเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่และมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม เพราะเป็นการผสานสองมรดกที่ขึ้นทะเบียนรับรองโดยองค์การยูเนสโก คือ “โขน – มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” และ “วัดไชยวัฒนาราม – โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตมรดกโลก และตนในนามสำนักการสังคีตรู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและมาชมกันอย่างมากมาย เราหวังว่าทุกท่านจะได้รับความสุขและให้การสนับสนุนศิลปะอันงดงามของไทยเราในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ ขอบคุณครับ”
นายสมคิด รุจีปกรณ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กล่าวว่า “ในนามมูลนิธิฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการแสดงอันทรงคุณค่าในครั้งนี้ และเป็นความปลื้มใจที่ได้เห็นประชาชนมากมายหลายพันคนทั้งชาวไทย และต่างชาติให้ความสนใจมาร่วมชมการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ที่วัดไชยวัฒนารามกันอย่างเนืองแน่น ความสำเร็จจากการจัดงานครั้งนี้เป็นเสมือนกำลังใจให้มูลนิธิฯ ได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป ตามเป้าหมายของเราที่พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนองค์กรและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มรดกของชาติอันล้ำค่าเหล่านี้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน”
การแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” ณ วัดไชยวัฒนาราม เป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องจากนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ที่ได้ดำเนินโครงการ “ราตรีนี้ที่วัดไชยวัฒนาราม” ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 และขยายเวลาโครงการไปถึงเดือนเมษายน 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และยังเป็นการสืบสานและเชิดชูวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าอีกด้วย