นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกของโลกที่นำเสนอบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของคาร์เทียร์ สะท้อนสุนทรียศาสตร์แบบจีนที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ผู้หญิงและแฟชั่นทั่วโลก
คาร์เทียร์ร่วมกับพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง (Hong Kong Palace Museum: HKPM) ภูมิใจเสนอนิทรรศการสุดพิเศษ Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women (คาร์เทียร์กับผู้หญิง) ระหว่างวันที่ 14 เมษายน – 14 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นนิทรรศการสำคัญครั้งแรกที่ว่าด้วยบทบาทและอิทธิพลอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ คาร์เทียร์ โดยได้นำผลงานล้ำค่าจากการรังสรรค์ของคาร์เทียร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับจิวเวลรี่ เรือนเวลา ศิลปวัตถุ หรือของตกแต่ง รวมทั้งบันทึกจากคลังผลงานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม
“Cartier and Women” เผยเรื่องราวอันน่าหลงใหลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของผู้หญิงกับจิวเวลรี่ พร้อมทั้งชูความเด่นของศิลปะจีนและศิลปะจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คาร์เทียร์ทั้งในด้านสไตล์การสร้างสรรค์ เทคนิคและวัสดุ ตลอดจนสุนทรียศาสตร์แบบจีนที่ส่งอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงและแฟชั่นทั่วโลก และยังแสดงให้เห็นแนวทางการทำงานของพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ที่เน้นนวัตกรรมในการภัณฑารักษ์นิทรรศการ และเป็นเครื่องพิสูจน์พันธกิจของพิพิธภัณฑ์ในอันที่จะอำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างสาขา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดบทสนทนาเชิงศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีนกับดินแดนอื่นๆ ของโลก
เชิดชูบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของคาร์เทียร์
Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women พาผู้ชมไปสำรวจความผูกพันระหว่างผู้หญิงกับจิวเวลรี่ ผ่านชุดเรื่องเล่าที่ตราตรึงใจ และสะท้อนให้เห็นความผูกพันลึกซึ้งระหว่างคาร์เทียร์กับสตรีผู้ทรงอิทธิพลหลายต่อหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการ คือเรื่องราวของฌานน์ ตูแซงต์ (Jeanne Toussaint, 1887-1976) สตรีผู้บุกเบิกในสังคมชายเป็นใหญ่สมัยต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นหนึ่งในสตรีที่ปฏิวัติวงการจิวเวลรี่สมัยใหม่ หลุยส์ คาร์เทียร์ (Louis Cartier, 1875-1942) ผู้นำรุ่นที่ 3 ของคาร์เทียร์ แต่งตั้งตูแซงต์เป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ในปี 1933 โดยเธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เข็มกลัดปองแตร์ (Panthere) ที่ตูแซงต์ออกแบบไว้เมื่อปี 1949 ซึ่งดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (1896-1986) ได้ซื้อไปครอบครอง คือผลงานที่กำหนดนิยามใหม่ว่าจิวเวลรี่มีความหมายอย่างไรต่อผู้หญิง นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของมรดกที่ฌานน์ ตูแซงต์ได้สร้างไว้ และนับแต่ผลงานชิ้นนี้ถือกำเนิดขึ้น เสือแพนเตอร์ สัญลักษณ์ของความองอาจ ความเป็นอิสระและอำนาจ ก็กลายมาเป็นแม่แบบและสัญลักษณ์ของ คาร์เทียร์ ตูแซงต์ไม่เพียงสนับสนุนการให้อำนาจแก่ผู้หญิงผ่านการออกแบบจิวเวลรี่เท่านั้น แต่เธอยังเป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดเสรีภาพใหม่เชิงทัศนคติ ที่โดดเด่นด้วยความเป็นหญิง จิตวิญญาณเสรี และอิสรภาพ การทำงานของเธอเปิดทางให้ผู้หญิงอีกหลายคนได้เข้ามาทำให้จิวเวลรี่ก้าวข้ามการเป็นแค่เครื่องประดับ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ตัวตนและจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ภายใน
Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women แบ่งเป็น 4 ส่วน โดยแต่ละส่วนมีแนวคิดที่ต่างกัน
- นิทรรศการส่วนแรก “Royal and Aristocratic Women: Elegance and Prestige” ความสง่างามและเกียรติภูมิเชื้อพระวงศ์และสตรีชั้นสูง เชิดชูบทบาทสำคัญของเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงและสตรีชั้นสูงในยุคแรกของคาร์เทียร์ ช่วงศตวรรษที่ 19
- นิทรรศการส่วนที่ 2 “New Women: Breaking with Tradition” หญิงยุคใหม่ที่ไม่ยึดติดกับม่านประเพณีเดิมๆ เป็นการสำรวจความก้าวหน้าในงานออกแบบจิวเวลรี่ ที่สะท้อนถึงการปลดแอกสตรี
- นิทรรศการส่วนที่ 3 “Inquisitive Women: Cross-cultural Inspirations” ผู้หญิงที่แสวงหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ: แรงบันดาลใจข้ามวัฒนธรรม ซึ่งจะนำพาไปชมอิทธิพลของศิลปะจากประเทศจีนและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างชีวิตชีวาให้กับผลงานที่คาร์เทียร์รังสรรค์ขึ้นเพื่อผู้หญิง และสนองความใคร่รู้สิ่งแปลกใหม่อันเป็นปรากฏการณ์สากล
- นิทรรศการส่วนสุดท้าย “Influential Women: Glamorous Legends” สตรีผู้ทรงอิทธิพล: ตำนานอันเจิดจรัส เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเครื่องประดับคาร์เทียร์กับสตรีสมัยใหม่และสตรีร่วมสมัยผู้เป็นไอคอน โดยผลงานชิ้นเด่นส่วนหนึ่งมาจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของสตรีระดับบุคคลสำคัญและสตรีที่มีชื่อเสียง เช่น เกรซ เคลลี่ หรือเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (1929-1982) สามนักแสดงชื่อดัง อลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor, 1932-2011) หลินชิงเสีย (Brigitte Lin) หลิวเจียหลิง (Carina Lau) และนักธุรกิจหญิงแพนซี่ โฮ (Pansy Ho)
สุนทรียศาสตร์แบบจีนส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงและแฟชั่นทั่วโลก
ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้ทราบว่าศิลปวัฒนธรรมจีนได้ให้แรงบันดาลใจต่อการรังสรรค์ผลงานของคาร์เทียร์อย่างไรบ้าง ทั้งในแง่สไตล์การออกแบบรวมถึงวัสดุและฝีมือช่าง ผลงานบางชิ้นที่นำออกแสดง สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่ศิลปะจีนมีต่อการพัฒนาไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงตลอดจนแฟชั่นทั่วโลก ตัวอย่างหนึ่งคือกระเป๋าเครื่องสำอางหรือกระเป๋าใส่ของชิ้นเล็กๆ สไตล์จีนที่ทำขึ้นเมื่อปี 1928 โดยอ้างอิงชามกระเบื้องสมัยคังซีในคอลเลคชั่นส่วนตัวของมิสเตอร์และมิสซิสหลุยส์ คาร์เทียร์ (1895-1952) คาร์เทียร์ทำจี้ หยิน-หยางขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1919 โดยได้แรงบันดาลใจจากสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นปรัชญาและศาสนาเก่าแก่ของจีน ส่วนเข็มกลัด “มังกรคู่ไล่ไข่มุก” ที่นำลวดลายยอดนิยมในศิลปะจีนมาใช้นั้น ถูกซื้อไปโดยฌานน์ ปาแก็ง (Jeanne Paquin, 1869-1936) ช่างเสื้อสตรีคนสำคัญคนแรกของฝรั่งเศส ขณะที่หยกเจไดท์ อัญมณีที่ชาวจีนนิยม มาปรากฏบนสร้อยคอที่บาร์บาร่า ฮัตตัน (Barbara Hutton, 1912-1979) สาวสังคมและสไตล์ไอคอนชาวอเมริกัน ได้รับเป็นของขวัญวันแต่งงานเมื่อปี 1933
ดร.หลุยส์ อึง (Louis Ng) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกงกล่าวว่า “นิทรรศการพิเศษครั้งนี้ตอกย้ำว่าฮ่องกงคือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมนานาชาติระหว่างภูมิภาคตะวันออกกับตะวันตก และยังชูวิสัยทัศน์ระดับโลก รวมทั้งแนวทางภัณฑารักษ์เชิงนวัตกรรมของพิพิธภัณฑ์ ที่เน้นการศึกษาค้นคว้าที่เข้มข้นและคุณภาพเชิงวิชาการ ด้วยเรื่องราวที่น่าหลงใหลของสตรีผู้อยู่เบื้องหลังผลงานตั้งแสดงระดับสุดยอดเหล่านี้ เราหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้สำรวจบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงผ่านกาลเวลา รวมทั้งเพิ่มความเข้าใจที่ผู้ชมมีต่อผลงานที่ผสมผสานสุนทรียศาสตร์แบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน”
Cartier Collection (คาร์เทียร์ คอลเลคชั่น) คือตัวแทนของแก่นแท้ที่เป็นรูปธรรมของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก และ ได้เป็นพยานรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมรวมทั้งเทรนด์แฟชั่นในสมัยต่างๆ ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมามีการนำ Cartier Collection ไปแสดง ณ สถาบันวัฒนธรรมที่ทรงเกียรติสูงสุดของโลกกว่า 30 สถาบัน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พระราชวัง ซึ่งมีการจัดแสดงมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2009 และ 2019
ทางพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง จะจัดรายการด้านการศึกษาหลายรายการควบคู่ไปกับนิทรรศการ “Cartier and Women” ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายทางวิชาการ การฉายภาพยนตร์ การแสดงดนตรีนาฏศิลป์ และเวิร์กช็อปงานศิลปะ โดยคาร์เทียร์สนับสนุนบัตรเข้าชมนิทรรศการแก่ผู้ด้อยโอกาสจำนวน 5,000 ใบ
นิทรรศการพิเศษครั้งนี้เปิดแสดง ณ Gallery 8 ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน – 14 สิงหาคม 2023 บัตรเข้าชมนิทรรศการสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 120 เหรียญฮ่องกง บัตรสำหรับผู้มีสิทธิ์ได้รับส่วนลด ราคา 60 เหรียญฮ่องกง ผู้ถือบัตรสามารถเข้าชมได้ทุกห้องนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ เปิดจำหน่ายบัตรบนแพลตฟอร์มจำหน่ายบัตรของ West Kowloon Cultural District (เขตวัฒนธรรมเวสต์เกาลูน) และตัวแทนจำหน่ายบัตร
ที่มา: เวิรฟ พับบลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์ซี