ด้วยองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมศึกษาที่ประเมินค่าไม่ได้ บูรณาการกับองค์ความรู้ทางสุขภาวะ และต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม จะนำพาประเทศสู่ทางรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ผ่านมิติของการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมความประทับใจ และสุขภาพดีถ้วนหน้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่ คณะศิลปศาสตร์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก และจัดการเรียนการสอนผ่านมาแล้วหนึ่งภาคการศึกษา
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรมศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล เชื่อมั่นว่าจะอำนวยการหลักสูตรให้สามารถบรรลุผลได้ตามวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผู้ประกอบการซึ่งถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้อันบูรณาการสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะทำให้ผู้มาเยือนได้มีสุขภาพดี พร้อมดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยกันถ้วนหน้า
จากกรณีศึกษาเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมศึกษา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวไทย ผ่าน”ชามตราไก่จากลำปาง” ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้เป็น “ผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geological Indication – GI) ที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลแก่จังหวัดลำปาง
เรื่องราวที่มาของ “ชามตราไก่จากลำปาง” ที่รุ่มรวยด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้รับการรำลึกและเล่าขานให้เกิดความภาคภูมิใจ ทุกครั้งที่ “วันชามตราไก่จากลำปาง” ซึ่งตรงกับวันที่ 12 กันยายนของทุกปีเวียนมาถึง
จากดินสู่ดาว ที่ค้นพบว่า “ดินขาว” ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นของจังหวัดลำปาง สร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ชามตราไก่” ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ให้เป็นที่จดจำ ใช้เป็น “ภาชนะรองรับอาหารสามัญประจำบ้าน” ของทุกครัวเรือนในประเทศ และได้ “ไปถึงดวงดาว” ในฐานะสินค้าส่งออกอันโดดเด่นสู่ทั่วโลก
จากการบอกเล่าโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล ทำให้ทราบว่า “ชามตราไก่จากลำปาง” นอกจากขึ้นชื่อในเรื่องความแข็งแรงทนทานจาก “ดินขาว” ที่แสดงถึงคุณค่าทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดลำปางแล้ว หากสังเกตถึงสัญลักษณ์รูปไก่ที่อยู่บนชาม เดิมได้มีการวาด “ลำตัวไก่” ด้วยสีส้ม และใช้สีดำที่ “หาง” และ “ขา” ของไก่ พร้อม “ทุ่งหญ้าสีเขียว” และ “ดอกโบตั๋น” ซึ่งแสดงถึงความหวัง และความอุดมสมบูรณ์
แต่ในภายหลังได้เพิ่มเติมด้วย “ใบตอง” เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย จึงกลายเป็นชามตราไก่ที่มีทั้ง”ดอกโบตั๋น” และ “ใบตอง” ควบคู่กันเช่นปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล ได้ให้มุมมองด้วยว่า การท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสังคม แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงหลังที่นิยมจัดสร้างเป็น “theme park” หรือสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งรวมเอาความเป็นไทยไว้ในหนึ่งเดียว ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนด้วยเวลาจำกัด สามารถรู้จักประเทศไทยได้อย่างครบรสเพียงภายในวันเดียว
ซึ่งการจะจัดการท่องเที่ยวอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ และเปี่ยมค่า ทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมความประทับใจได้นั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล แนะนำว่า ไม่ควรทำให้ดูเหมือนเป็นการ “ประดิษฐ์” มากจนเกินไป หากควรปรับได้ตามสถานการณ์ ภายใต้มาตรการที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเอาไว้ให้เกิดความงดงามในทุกหัวใจ
เช่นเดียวกับ “ชามตราไก่จากลำปาง” ที่ยังคงคุณค่าทั้งทางภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมของไทยตราบเช่นปัจจุบัน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพจากคณะศิลปศาสตร์ และ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล