กรมประชาสัมพันธ์ สังกัดคณะกรรมการเทศบาลเมืองไห่ตงประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เมืองไห่ตงในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้จัดเทศกาลศิลปะดอกไม้เส้นทางสายไหมชิงไห่ (Qinghai Silk Road Flower Art Festival) และเทศกาลวัฒนธรรมและศิลปะเหอหวง (Hehuang Culture and Art Festival) ขึ้นมา
ในช่วงไม่กี่ปีนี้ เมืองไห่ตงได้ทุ่มเทส่งเสริมการคุ้มครอง สืบสาน และนำวัฒนธรรมเหอหวงมาใช้ประโยชน์ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ
หลิว หลิวหยูเจี่ย (Lyu Liuyuejie) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านบันหยัน เขตการปกครองตนเองหูจู ตู้ ในเมืองไห่ตง ได้เริ่มเรียนผานซิ่ว (Panxiu) ซึ่งเป็นการเย็บปักถักร้อยแบบฉบับของชาวตู้ เมื่ออายุได้ 10 ปี
ผานซิ่วเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีนมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเป็นศิลปะชาติพันธุ์ดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวตู้ ซึ่งมีประวัติศาสตร์นานกว่า 1,000 ปี
คุณหลิว กล่าวว่า “ครอบครัวของฉันเคยพึ่งพาการทำฟาร์มเพื่อหาเลี้ยงชีพ เรามีรายได้ไม่ค่อยมากนักจากงานนี้” โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 แล้ว ชาวบ้าน 732 คนจากทั้งหมดกว่า 1,400 คนใช้ชีวิตอย่างขัดสนในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดชนเผ่าตู้
แต่นับตั้งแต่ปี 2559 หมู่บ้านแห่งนี้ได้เปิดตัวโครงการบรรเทาความยากจน และเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมา 8 ภาคส่วน ซึ่งมีผานซิ่ว บาร์เลย์ไวน์ฉิ่งเค่อ การท่องเที่ยวชนบท และฟาร์มสเตย์รวมอยู่ด้วย
คุณหลิว กล่าวว่า “งานนี้ยอดเยี่ยมมากสำหรับเรา เพราะเราทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้วได้ และดูแลครอบครัวได้ด้วย” โดยเธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าเธอจะทำรายได้ปีละกว่า 30,000 หยวนจากงานเย็บปักถักร้อย
ด้านคุณหม่า โหยวไช่ (Ma Youcai) วัย 58 ปี สังเกตเห็นความก้าวหน้าดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า หลาน ๆ ของเขาเข้าเรียนชั้นประถมได้ง่ายขึ้น และมีคนจากพื้นที่รอบข้างมาเยือนมากขึ้น
คุณหม่า กล่าวว่า “บริการอาหารของเรา ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นการให้บริการอาหารท้องถิ่น ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เราด้วย” โดยเขาเปิดเผยว่า ธรรมเนียมการทำไวน์แบบพื้นเมืองยังได้ขยับขยายจากธุรกิจครอบครัวไปเป็นการผลิตล็อตใหญ่ด้วย ซึ่งโรงงานบางแห่งใกล้หมู่บ้านก็นำไวน์ไปขายทางออนไลน์
นับจนถึงปลายปี 2564 รายได้ต่อหัวต่อปีของชาวบ้านได้พุ่งแตะ 12,300 หยวน และรายได้รวมทั้งหมู่บ้านทะลุ 1.45 ล้านหยวนแล้ว โดยหมู่บ้านบันหยันค่อย ๆ สร้างชื่อให้กับตนเองในฐานะ “หมู่บ้านมั่งคั่ง”
สมาชิกของหมู่บ้านได้รับเงินช่วยเหลือรายปี เพื่อช่วยในเรื่องการศึกษาและการดูแลผู้สูงอายุ โดยชาวบ้านหลายรายได้งานทำในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคุณหม่ากล่าวว่า “ชีวิตของเราดีขึ้นทุกวัน”
ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์ สังกัดคณะกรรมการเทศบาลเมืองไห่ตงประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน