ไฮไลต์เด็ดจับคู่ผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
- จับน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์จากโรงงานน้ำอ้อยไร่ไม่จนมาเสิร์ฟคู่กับสับปะรดบ้านคาสินค้า GI เพื่อเป็น Welcome drink
- จับคู่หมูยอดาวทอง สินค้า OTOP จ.นครพนมมายำ เพื่อทานคู่กับน้ำลิ้นจี่ สินค้า GI
- นำมะพร้าวทับสะแก สินค้า GI มาทำเมนูกาแฟมะพร้าวทับสะแก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือบริษัทท่องเที่ยวชุมชน ร่วมออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy และ Happy Model สร้างเรื่องราวใหม่ให้นักเดินทางเชื่อมโยงการเที่ยวชุมชน พร้อมชม และชอปผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้า GI ดึงของดีในพื้นที่มาร่วมสร้างจุดขาย ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปให้สูงขึ้น ใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ ในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างทั่วถึง บนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ททท. ได้พัฒนาสินค้าท่องเที่ยวชุมชนรูปแบบใหม่โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy และ Happy Model มาเป็นโจทย์หลักในการพัฒนาชูอัตลักษณ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้า GI ทำให้เกิดกระจายรายได้สู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ในพื้นที่ สามารถเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปให้สูงขึ้นเป็นการสร้างตัวคูณทางรายได้อย่างยั่งยืน”
ไฮไลต์ของสินค้าท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ BCG & Happy Model ที่ได้พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ คือการออกแบบท่องเที่ยวชุมชนใหม่โดยดึงของดีในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) หรือสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI มาสอดแทรกนำเสนอในกิจกรรมของชุมชนเพื่อยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวของชุมชนสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวของชุมชน ตัวอย่างเช่น ที่ชุมชนคนคลองบางป่า จังหวัดราชบุรี นำน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์ สินค้า OTOP จากโรงงานน้ำอ้อยไร่ไม่จน มาเสิร์ฟคู่กับ สินค้า GI อย่างสับปะรดบ้านคา เป็น Welcome drink ส่วนชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม นำหมูยอดาวทองซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ของจังหวัดมาเป็นส่วนประกอบในเมนูยำ รับประทานคู่กับน้ำลิ้นจี่ จากสินค้า GI ลิ้นจี่ พันธุ์นครพนม ในมื้อกลางวัน และชุมชนบ้านป่าหมาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมะพร้าวทับสะแก สินค้า GI มาทำเมนูกาแฟมะพร้าวทับสะแก เสิร์ฟเป็น Welcome drink และมีกิจกรรมนวดด้วยลูกประคบม้าร้อง ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัด
ชุมชนต้นแบบ BCG & Happy Model ซึ่งมีทั้งหมด 12 ธีม 25 เส้นทาง ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ดังนี้
โดยเส้นทางการท่องเที่ยวทั้ง 25 เส้นทาง แบ่งออกเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวใน 12 ด้าน 25 ชุมชน ได้แก่
- เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ประกอบด้วยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ ชุมชนบางป่า และชุมชนบ้านพญาบังสา
- เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มบริษัท ประกอบด้วยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ชุมชนบ้านอำเภอ และชุมชนลีเล็ด
- เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง และชุมชนบ้านลำขนุน
- เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนทำงาน ประกอบด้วยชุมชนบ้านสะปัน และชุมชนยี่สาร
- เส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ประกอบด้วยชุมชนบ้านสวนป่า
- เส้นทางท่องเที่ยงเชิงอาหาร ประกอบด้วยชุมชนสันป่าเปา ชุมชนนาพันสาม และชุมชนวังหว้า
- เส้นทางท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ประกอบด้วยชุมชนนาหว้า และชุมชนอ่าวคราม
- เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วยชุมชนบ้านแม่ลานเหนือ และชุมชนบ้านไทรน้อย
- เส้นทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ประกอบด้วยชุมชนบ้านป่าหมาก และชุมชนบ้านท่าระแนะ
- เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับโรงเรียนและครอบครัว ประกอบด้วยชุมชนบ้านน้ำทรัพย์
- เส้นทางท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา ประกอบด้วยชุมชนบ้านหนองขาว
- เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม ประกอบด้วยชุมชนบ้านโป่งกวาว และชุมชนบ้านโตนปาหนัน
นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด กล่าวว่า “โลเคิล อไลค์ ได้สร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวมา 2 ธีม คือ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา ชุมชนบางป่า จังหวัดราชบุรี และชุมชนบ้านพญาบังสา จังหวัดสตูล และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา ชุมชนบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี เส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่สนใจสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนและกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคม”
นางสาวพูลศรี นิ่มพูลสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรายเดย์ ทริป จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน เส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับคนทำงาน หรือการท่องเที่ยวแบบ Digital Nomad กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นมาก ขอแค่มี Wifi ก็ส่งงานได้จากทุกที่ เราได้ออกแบบเส้นทางชุมชนบ้านสะปัน จังหวัดน่าน และชุมชนยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะที่การท่องเที่ยวกลุ่มบริษัท เช่น Company Outing และการสัมมนาก็ยังเป็นที่ต้องการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท ฟรายเดย์ทริป ออกแบบเส้นทางชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ชุมชนบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี และชุมชนลีเล็ด จังหวัดสุราษฎร์ธานี”
นางสาวศิลปาญ มั่นธนะกิจ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท โพสิทีฟ กรุ๊ป วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ GuideGURU กล่าวว่า “เส้นทางที่ไกด์กูรูนำเสนอนั้น มีกิจกรรมที่หลากหลายในเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เราได้ออกแบบเส้นทางชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ให้สนุกไปกับประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของทวารวดี และสร้างสรรค์จินตนาการด้วยสีสันวิถีชาวใต้ ชุมชนบ้านลำขนุน จังหวัดตรัง ส่วนในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร เราออกแบบเส้นทางตามรอยรสชาติอาหารชุมชนสันป่าเป่า จังหวัดเชียงใหม่ ตามรอยขนมหวานชุมชนนาพันสาม จังหวัดเพชรบุรี และตามหาเมนูลับประจำท้องถิ่นชุมชนวังหว้า จังหวัดระยอง อีกทั้งยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ชุมชนบ้านแม่ลานเหนือ จังหวัดแพร่ และชุมชนบ้านไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทุกเส้นทางออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเรียนรู้ ความเป็นอยู่ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดี ๆ ตามหลัก BCG”
นางสาวอาภากร ก่อกิ้มเส้ง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายท่องเที่ยวยั่งยืน บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด กล่าวว่า “เส้นทางที่ ฟายด์ โฟล์ค ร่วมออกแบบกิจกรรมนำเสนอให้ตอบโจทย์กับความสนใจของนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบทั้งแนว Eco Adventure และ Responsible โดยในทุกเส้นทางเราได้นำแนวคิด BCG และ Happy Model มาเชื่อมโยงการออกแบบกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวหลากหลาย ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ชุมชนบ้านสวนป่า จังหวัดเชียงราย เส้นทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ชุมชนบ้านป่าหมาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมชนบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด เส้นทางท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ชุมชนนาหว้า และชุมชนอ่าวคราม มาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมจนกลายเป็นการท่องเที่ยววิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน คืนธรรมชาติ สู่ความยั่งยืน ใช้ทรัพยากรของห่วงโซ่อุปทานอย่างคุ้มค่า
นางสาวสิรินภา วงศาโรจน์ ผู้จัดการ อูดาชี ไทยแลนด์ กล่าวว่า “อูดาชี ไทยแลนด์ ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโปรแกรมและให้บริการนำเที่ยวตามแบบ BCG & Happy Model ในเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับโรงเรียนและครอบครัว ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ จังหวัดเพชรบุรี และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม ชุมชนบ้านโป่งกวาว จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนบ้านโตนปาหนัน จังหวัดสตูล โดยมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานชีวิตของชุมชนให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีจากการท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวสรุปว่า “หัวใจของการทำงานตามแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy คือการบูรณาการรวมพลังการทำงานหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการส่งต่อผลประโยชน์สู่ชุมชน โครงการนี้ เราจึงเชิญภาคเอกชนบริษัทท่องเที่ยวชุมชน ไกด์ท้องถิ่น นักวิชาการ นักพัฒนา กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มาทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ร่วมให้ความเห็น ร่วมออกแบบ ร่วมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวของโครงการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถขอข้อมูล E-Book ชุมชนต้นแบบ BCG & Happy Model ได้ที่ https://tourismproduct.tourismthailand.org/en/article-detail/634“