“Bangkok Design Week” ยกระดับ “กรุงเทพ” สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก

“Bangkok Design Week” ยกระดับ “กรุงเทพ” สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก

หากกล่าวถึง “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” หรือ “Bangkok Design Week” หลายคนคงถึงอีเวนท์ที่เต็มไปด้วยงานอาร์ต งานศิลปะ กิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ใหม่ แทรกตัวอยู่ตามตรอก ซอย ร้านเล็กๆ พื้นที่สาธารณะ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับ “กรุงเทพฯ” มหานครที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งความหลากหลาย

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” นับเป็นเทศกาลฯสำคัญของเมืองไทยที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย มุ่งเน้นในการนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ที่จัดแสดงในย่านสร้างสรรค์ (Creative Districts) ต่างๆ ที่กลมกลืนไปกับบริบทอันเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ส่งผลให้ “กรุงเทพฯ” ขึ้นแท่นเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design)  ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network)

สร้าง Snowball Effect ทางเศรษฐกิจ

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ตลอดระยะ เวลา 4 ปีที่ผ่านมา “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลฯ รวมเป็นจำนวนสูงถึง 969 ล้านบาท มีผู้เข้าชมเทศกาลฯ กว่า 1.3 ล้านคน โดยเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ และศักยภาพสำคัญของนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ

“อย่างไรก็ดี งาน Design Week หรือ Design Festival ไม่ได้เป็นแค่เพียงหนึ่งในเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่มันคือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้การออกแบบเป็นอาวุธสำคัญ อีกทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้จริง”

โมเดลการออกแบบเพื่อเมืองน่าอยู่

ที่ผ่านมา “เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ” ยังจุดประกายให้เกิดโครงการที่ใช้กระบวนการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่การสำรวจปัญหา ไปจนถึงการร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชน อย่างเช่นโครงการ พัฒนาป้ายรถประจำทางในย่านเจริญกรุง ในปี 2561 ที่เรียกได้ว่าเป็นป้ายรถเมล์ที่เปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น โดยกลุ่มนักออกแบบ MAYDAY! และผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ร่วมกับ CEA สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีการทำ Workshop สร้างสรรค์ป้ายรถเมล์จากความต้องการของผู้ใช้งานจนเกิดเป็นป้ายรถเมล์ที่ใช้งานได้จริง รูปลักษณ์สวยงามและทำให้ผู้โดยสารไม่หลงทางอีกต่อไป

อีกหนึ่งโปรเจคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ “Made in เจริญกรุง” โปรเจคต่อยอดสินทรัพย์ล้ำค่า ร้านค้าดั้งเดิมย่านเจริญกรุง โดยการ หยิบ จับ ปรับ ผสม ทักษะรุ่นเก๋ากับไอเดียคนรุ่นใหม่ ให้ออกมาเป็น “ของดีประจำย่านเจริญกรุง” เวอร์ชั่นพิเศษ สร้างสรรค์โดยชาวเจริญกรุง ที่จะช่วยทำให้คนดั้งเดิมในย่านมองเห็นโอกาสว่า อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ และลุกขึ้นมาเรียนรู้ ปรับตัวให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะมี “ดี” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ขายได้” ด้วย

โปรเจคนี้เป็นการทำงานร่วมกันของนักออกแบบ ร้านค้า ช่างฝีมือ ทั้งในย่านและนอกย่าน ทีใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมเอาไว้ และทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะย่านเจริญกรุงเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านี้ ภารกิจที่สำคัญของงานเทศกาลฯ นอกเหนือจากการเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังต่อยอดได้ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถสร้าง Snowball Effect ทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เจริญเติบโต แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก ลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม และบริการขนส่งมวลชน ฯลฯ รวมทั้งการนำผลงานการออกแบบสร้างสรรค์แทรกไปในย่านชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาในย่านสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับและสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้นอีกด้วย

Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด

ร่วมหาทางรอดได้ใน BKKDW2022

สำหรับในปีนี้ เป้าหมายหลักของ BKKDW2022  ด้วยการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์และผู้มีความรู้ในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ค้นหาโอกาสในการต่อยอดไปสู่การสร้างวิถีชีวิตใหม่ ด้วยการใช้ต้นทุนความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายแง่มุมเพื่อทำให้เรายังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ (ใหม่) และเตรียมตัวสำหรับอนาคต เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 (BKKDW2022) กำหนดจัดเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565

อัดแน่น 9 วัน 200 โปรแกรม

เปิดตัว”พระนคร”ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่

ตลอด 9 วัน อัดแน่นกว่า 200 โปรแกรมให้เตรียมพร้อมอัพเดตเทรนด์สร้างสรรค์ใหม่ๆ พบกับงานดีไซน์ที่ “CO” กับคุณและเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว กับการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ องค์กรและหน่วยงานในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้เป็นปฐมบทของการคิด ใน 5 ย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นย่าน เจริญกรุง-ตลาดน้อย : ยิ่งเก่ายิ่งเจ๋ง, สามย่าน : ครบสูตรย่านเรียนรู้มาคู่ตำนานอร่อย, อารีย์-ประดิพัทธ์ : ชิคสุดไม่ตกเทรนด์, ทองหล่อ-เอกมัย : ย่านดีไซน์ผู้มาก่อนกาล  และล่าสุดย่าน “พระนคร” อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ จะเปิดตัวในฐานะหนึ่งย่านหลักที่ร่วมจัดเทศกาลฯ เป็นครั้งแรก ย่านที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่พร้อมต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เข้ากับเมืองในมิติต่าง ๆ และพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย

ภาพ : Charoenkrung Creative District

ด้านนายสุกฤษฐิ์ ศรหิรัญ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของอาคารชัยพัฒนสิน อาคารเก่าสีส้มอายุนับร้อยปีในย่านเจริญกรุง กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มมีงาน Bangkok Design Week ส่งผลให้เจริญกรุงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีภาพของความเป็นเซียงกงในอดีต มาชัดเจนของความเป็นย่าน Creative District มากขึ้น มีร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหารเปิดขึ้นจำนวนมากกลายเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีของคุณตาที่ถูกปิดไว้เฉยๆ มาพัฒนาเป็นลานสเก็ต และมีแผนที่จะขยายสู่การเป็น Community Space โดยล่าสุดในปีนี้ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022 ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินเข้ามาใช้สถานที่จัดงานอีกด้วย

ร่วมค้นหาไอเดียสร้างสรรค์อีกครั้ง ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565

ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจที่     

www.bangkokdesignweek.com                       FB/IG: BangkokDesignWeek 

Line@: BangkokDesignWeek Twitter: BKKDesignweek

เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) : สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2561 โดยการยกระดับ TCDC ขึ้นเป็นองค์การมหาชน ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ CEA คือ การสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง โดยการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสู่ชุมชนโดยรอบให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น CEA ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขาให้เติบโตจากการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทย

ที่มา: แบงค์คอกไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ