อุทยานธรณีเซียงซีประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว

อุทยานธรณีเซียงซี ซึ่งเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) มีข่าวดีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยแกรนด์แคนยอนอ่ายจ้าย-ซื่อปาตง-เต๋อหาง (Aizhai-Shibadong-Dehang Grand Canyon) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของประเทศ นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมกิจกรรมมากมาย ทั้งการสำรวจถ้ำ การปีนเขา บันจีจัมป์ และการเยี่ยมชมศูนย์จัดแสดงประเพณีท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ (Folk Customs and Popular Science Exhibition Hall) โดยกิจกรรมการเรียนรู้ด้านธรณีศาสตร์ได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่นักเรียน

เผิง หัว ผู้อำนวยการสำนักบริหารอุทยานธรณีของเขตปกครองตนเองเซียงซี ชนชาติถู่เจียและชนชาติแม้ว เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เสนอตัวเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกในปี 2560 อุทยานธรณีเซียงซีก็เดินหน้าใช้กลยุทธ์การท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการบูรณาการอุตสาหกรรมและคืนชีวิตชีวาให้กับชนบทด้วยการสร้างกลไกเชื่อมผลประโยชน์ ซึ่งรวมถึงการผลักดันการพัฒนาสินค้าเกษตรพิเศษ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และงานฝีมือระดับชาติ เช่น กีวี ดอกลิลลี่ เนื้อรมควัน ผ้าปักและเครื่องเงินชาวแม้ว และผ้าปักชาวถู่เจีย นอกจากนั้นยังมีการเปิดร้านอาหารและร้านค้าของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

ในปี 2563 อุทยานธรณีเซียงซีได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศรวม 4.5 ล้านคน และกวาดรายได้จากการท่องเที่ยว 2.55 หมื่นล้านหยวน ปัจจุบัน อุทยานธรณีเซียงซีมีโรงแรมติดดาว 21 แห่ง ที่พักประเภท B&B รวม 322 แห่ง และร้านค้ากว่า 1,200 แห่ง นอกจากนี้ ครอบครัวยากไร้ 29,186 ครัวเรือน และคนยากจน 120,106 คน ได้หลุดพ้นจากความยากจนในทุก ๆ ด้าน บ้างก็ได้รับการจ้างงาน บ้างก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง

ในหลายหมู่บ้านบริเวณอุทยานธรณีเซียงซี อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวต่างพึ่งพาอาศัยกัน โดยในหมู่บ้านซื่อปาตง การท่องเที่ยวชนบทเป็นตัวชูโรง และเติมเต็มด้วยอุตสาหกรรมการปลูกกีวี การทำผ้าปักแม้ว และการผลิตน้ำแร่ ส่วนในพื้นที่ตู้เจียผอ หมู่บ้านจั่วหลงเซี่ย มีการผสมผสานอุตสาหกรรมชาและการท่องเที่ยวอย่างลงตัว โดยมีการสร้างลานชมวิวและโรงแรมแบบเต็นท์ ส่วนบ้านโบราณก็ได้รับการปรับโฉมเป็นที่พัก B&B ซึ่งในปี 2563 หมู่บ้านแห่งนี้ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 200,000 คน สำหรับหมู่บ้านหนานจู ได้มีการใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst) ด้วยการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวปีนเขาและสำรวจถ้ำ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนรักกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนในพื้นที่เร่อปาลา หมู่บ้านเล่าเชอ วิถีชีวิตของชาวถู่เจียได้รับการถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวาผ่านผ้าปัก ผ้าย้อมลายด้วยขี้ผึ้ง และประเพณีท้องถิ่นชาวถู่เจีย เช่น ประเพณีร้องไห้ก่อนแต่งงาน, การเต้นรำ Waving Dance, การเต้นรำ Maogusi Dance, การเล่นเครื่องดนตรี Daliuzi, การเป่าขลุ่ยไม้ไผ่ Dongdongkui และการแข่งเรือมังกร     

อุทยานธรณีเซียงซีมีพื้นที่รวม 2,710 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 7 อำเภอและเมืองในเซียงซี และมีภูมิประเทศแบบคาสต์เป็นหลัก โดยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ธรณีศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์มากที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังบันทึกวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาของเซียงซีเอาไว้อย่างสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบของการบูรณาการระบบนิเวศแบบคาสต์เข้ากับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างลงตัว

ที่มา: สำนักบริหารอุทยานธรณีของเขตปกครองตนเองเซียงซี ชนชาติถู่เจียและชนชาติแม้ว

ลิงก์รูปภาพประกอบข่าว:

ลิงก์: http://asianetnews.net/view-attachment?attach-id=409538

คำบรรยายภาพ: ผู้เชี่ยวชาญอธิบายต้นกำเนิดของชุดหินอ้างอิง ช่วงอายุกูจางเจียน (Guzhangian GSSP) ในอุทยานธรณีเซียงซี สมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

ลิงก์: http://asianetnews.net/view-attachment?attach-id=409540

คำบรรยายภาพ: นักท่องเที่ยวเล่นบันจีจัมป์บนสะพานอ่ายจ้าย แกรนด์ บริดจ์ ในอุทยานธรณีเซียงซี สมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

AsiaNet 93423

ที่มา:  ซินหัว-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ