ตลอดระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างยังคงอยู่ในวังวนของการคุมเข้มมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดและแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งการล็อกดาวน์ ทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ท่ามกลางแนวทางการควบคุมโรค โอกาสของการได้รับวัคซีนที่มากขึ้น กลายเป็นโอกาสทองในการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจ และสังคม ได้มีอากาศหายใจขับเคลื่อนตัวเองต่อไปได้ แต่ในความกระหายของนักเดินทาง ก็ยังคงมีความกังวลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นที่มาให้การท่องเที่ยวและบริการเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) กลายเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวกันมากขึ้น สอดรับการปรับตัวตามวิถีใหม่ของโลก
จากการจัดอันดับโดยสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute ประจำปี 2561 ประเทศไทยมีอันดับรายได้จาก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ระหว่าง Medical Tourism กับ Wellness Tourism ของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า Medical Tourism มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 3.6 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 9,195 คน ขณะที่ Wellness Tourism มีนักท่องเที่ยว 12.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 409,200 ล้านบาท มีการจ้างงาน 530,000 คน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ไปยังธุรกิจอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชัดว่า Wellness Tourism จะเป็นอีกธุรกิจการท่องเที่ยวดาวรุ่งให้กับอนาคตประเทศไทย
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดัน Wellness Economy หรือ เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมที่ช่วยให้ผู้บริโภคนำเอา กิจกรรมและวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีของไทยว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้มีความร่วมมือกับ Global Heslthcare Accreditation (GHA) หน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body) และเจ้าของหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ จากสหรัฐอเมริกา ได้นำมาตรฐานอาชีพ Medical Travel Professional และ Wellness Travel Professional ของ GHA มาปรับใช้เป็นมาตรฐานอาชีพสำหรับคนไทย สำหรับการยกระดับ พัฒนาทักษะ ศักยภาพกำลังคนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ได้การรับรองตามมาตรฐานเทียบเท่าสากล เป็นการเดินหน้าสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการขับเคลื่อน Thailand Medical Hub โดยเฉพาะในด้านการรับรองบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อยกระดับความเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ของไทย ตอบสนองความต้องการเดินทางเข้าประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และตอบโจทยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการ สคช. ย้ำความสำคัญของคำว่า Wellness คือครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพจิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งทุกภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงทั้งหมด โดยเฉพาะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาและธุรกิจส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นนวด สปา สอดรับกับการผลักดันนโยบายรัฐบาลในการผลักดัน Thailand Medical Hub และ BCG Model ซึ่งจะรวบรวมห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของ 5 อุตสาหกรรม S-curves หลัก ซึ่งมีการท่องเที่ยว และการแพทย์ครบวงจรรวมอยู่ด้วย ซึ่งมาตรฐานจะเพิ่มมูลค่าของผู้ให้บริการ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของไทยที่มีความแข็งแรงด้านบริการ เราจึงควรใช้โอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวที่สถานประกอบการหลายแห่งไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ตามปกติ ในการเร่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการของสถานประกอบการและพัฒนาทักษะแรงงานด้าน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการ เป็นฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มขนาดใหญ่ของประเทศ
นางกุสุมา กิ่งเล็ก ผู้จัดการทั่วไป อ่าวนาง ปริ้นวิลล์ วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา ย้ำว่าแม้เวลานี้อ่าวนาง ปริ้นวิลล์ จะได้รับมาตรฐาน WellHotel จาก Global Healthcare Accreditation (GHA) เป็นที่แรกและที่เดียวของประเทศไทย แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานการบริการเป็นอย่างมาก หากเราต้องการที่จะก้าวไปสู่ตลาดการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism อย่างเต็มรูปแบบ และอยู่ในอันดับต้นๆ ที่เป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยว ผู้ให้บริการเองก็ต้องได้การรับรองการทำงานอย่างเป็นมาตรฐานด้วยเช่นกัน แนวคิดการนำมาตรฐานอาชีพ Medical Travel Professional และ Wellness Travel Professional ของ GHA มาปรับใช้เป็นมาตรฐานอาชีพสำหรับคนไทย จึงเป็นทิศทางที่สดใสที่จะช่วยยกระดับ และมาตรฐานการทำงานของคน รองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกเวลานี้
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมทั้งอาชีพอื่นๆ อีกกว่า 800 อาชีพ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tpqi.go.th หรือโทร 063-373-3926
ที่มา: สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)