วันที่ 21 เมษายน ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดให้สร้างพระนครแห่งใหม่ หรือ “กรุงเทพมหานครฯ” ในปัจจุบันนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดตั้งพระราชพิธียกเสาหลักเมืองในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 พร้อมพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า
“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” ที่ความหมายว่า
“พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง. เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวรา พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 243 ปี แห่งการสถาปณากรุงรัตนโกสินทร์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน 2568 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 243 ปี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
1. อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ นิทรรศการ Immersive Art “แสงแห่งพระบารมี” (Light of Royal Wisdom) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมทางวิชาการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงดนตรี อาทิ ละครนอก วงดนตรีสากล โดยกรมศิลปากร การแสดงของสมาคมศิลปินพื้นบ้าน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โขน โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียง การสาธิตมรดกวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม อาหารและขนมไทย กิจกรรมเวิร์คชอปไทยร่วมสมัย ตลาดอาหารไทย อาหารถิ่น ตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม และตลาดนัดศิลปิน
2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แก่ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) ฉายหนังกลางแปลง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหาร
3. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จัดงาน “เที่ยวงานวัด ย้อนวันวาน ยลวิถีย่านกะดีจีน-คลองสาน” ภายในงานมีกิจกรรม เช่น ไหว้พระรับพร เสริมสิริมงคล การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ปั่นจักรยานเที่ยววัดยามค่ำคืน” การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง การประกวดอาหารสามศาสน์ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมและของดีย่านกะดีจีน
ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม