มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี 2568 เหล่าทราเวลเลอร์มองหาการท่องเที่ยวที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ยั่งยืน มีเอกลักษณ์ ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมนำเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้เพื่อเพิ่มคุณค่าในการท่องเที่ยว
นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวม อี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-18 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ส่งผลให้เทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในปี 2568 ถือเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังจากการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ผ่านมา เทรนด์การท่องเที่ยวจึงมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของนักท่องเที่ยว
โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวปี 2568 แบ่งออกเป็น 10 เทรนด์ ได้แก่ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น ที่พักแบบ Eco-friendly การลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวคือการพักผ่อน โดยโรงแรมที่มีกิจกรรม หรือโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพ เช่น การทำสมาธิ โยคะ หรือการดีท็อกซ์ร่างกาย จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experiential Travel) นักท่องเที่ยวต้องการ “ประสบการณ์” มากกว่าแค่การชมสถานที่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการสอดแทรกกิจกรรม การเรียนรู้วัฒนธรรม การเข้าร่วมพิธีกรรมท้องถิ่นการผจญภัยในธรรมชาติ เช่น เดินป่า ปีนเขา หรือกิจกรรมล่องแก่ง และอื่นๆ เข้ามาอยู่ในแพคเกจท่องเที่ยว
เทคโนโลยีในการท่องเที่ยว (Smart Tourism) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น Chatbot ในการให้ข้อมูลและแนะนำแผนการเดินทาง การจองและชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลการใช้ VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) เพื่อสร้างประสบการณ์จำลองก่อนเดินทาง การท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชน (Secondary Cities & Community Tourism) จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร การท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็ก (Small Group Travel) การเดินทางแบบกลุ่มเล็กหรือกลุ่มครอบครัวยังคงเป็นที่นิยม เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและการลดความแออัดในแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อสร้างสมดุลชีวิต (Workation & Digital Nomads) จัดได้ว่าเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวระดับโลกที่มุ่งเน้นการทำงานและการพักผ่อนในเวลาเดียวกัน
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Culinary Tourism) เป็นมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากอาหารไทยยังคงเป็นจุดเด่น โดยรูปแบบทัวร์ชิมอาหารสตรีทฟู้ดและเข้าครัวทำอาหารไทยกับเชฟท้องถิ่นจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เทรนด์หรูหราแบบเรียบง่าย (Affordable Luxury) นักท่องเที่ยวจะมองหาประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกหรูหราในราคาที่เอื้อมถึง เช่น ที่พักระดับบูติกโฮเทล หรือ ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งในราคาไม่สูงเกินไป และสุดท้าย การเดินทางเพื่อเป้าหมายเฉพาะ (Purposeful Travel) การเดินทางที่มีเป้าหมายเฉพาะ เช่น การช่วยเหลือชุมชนผ่านโครงการจิตอาสา การร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม จะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวของกลุ่มองค์กร ที่เริ่มมีสูงมากขึ้น
นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์ที่ยั่งยืนและมีเอกลักษณ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของเทรนด์การท่องเที่ยวปี 2568”