การท่องเที่ยวฮาลาล หรือการท่องเที่ยวแบบวิถีชาวมุสลิม เป็นทิศทางการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต และน่าจับตา ผลสำรวจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมราว 168 ล้านคนทั่วโลก โดยผลการจัดอันดับจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกจาก Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 32 ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมไปท่องเที่ยว
6 เรื่องต้องใส่ใจในการการท่องเที่ยวในวิถีอิสลาม
- อาหาร – เนื่องจากชาวมุสลิมไม่สามารถบริโภคเนื้อสุกร สุนัข สัตว์มีพิษ สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร สัตว์ที่ตายเอง เพราะเป็นการผิดหลักศาสนา โดยจะสามารถบริโภคเฉพาะอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลเท่านั้น
- สิ่งอำนวยความสะดวกในการละหมาด – สถานที่ท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวฮาลาล จึงควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการละหมาด เช่น ห้องละหมาดแยกชาย-หญิง และมีสถานที่สำหรับชำระล้างร่างกายก่อนละหมาด เป็นต้น
- การให้บริการในช่วงเดือนรอมฎอน – เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด คือระงับการกิน การดื่ม การสูบ การเสพสุขทางเพศ และพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่น ๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก เพื่อแสดงความภักดีต่อองค์อัลเลาะห์ ดังนั้นสำหรับชาวมุสลิมที่จำเป็นต้องออกเดินทางไปต่างแดนในช่วงนี้ จึงมักมองหาโรงแรมและการบริการที่เอื้อต่อการถือศีลอดดังกล่าว เช่น โรงแรมที่สามารถเตรียมอาหารฮาลาลบริการ ที่เรียกว่า ซะโฮร์ ให้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นต้น
- สุขอนามัยในห้องน้ำ – “น้ำ” เป็นสิ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด และตามหลักศาสนาอิสลาม ความสะอาดทางกายภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญของชาวมุสลิม ชาวมุสลิมจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสุขอนามัยในห้องน้ำ และน้ำที่สะอาด
- กิจกรรมที่ไม่ใช่ฮาลาล – เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ชาวมุสลิมมักหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่ใช่ฮาลาล เช่น สถานที่ที่บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิง และบ่อนการพนันคาสิโน เป็นต้น
- พื้นที่สันทนาการที่เป็นสัดเป็นส่วนแยกชายและหญิง – การจัดบริการท่องเที่ยววิถีอิสลามแก่ชาวมุสลิมนั้น ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวควรคำนึงถึงพื้นที่ส่วนตัวที่แบ่งแยกชายหญิงชัดเจน
“ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยว 100 คน จะเป็นชาวมุสลิมอยู่ 20 คน ถือเป็นจำนวนที่เยอะและมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นทุกปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจึงควรให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวที่รองรับวิถีการท่องเที่ยวฮาลาลยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ได้มาตรฐานฮาลาลมีความยุ่งยากและมีรายละเอียด การจัดการบริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจึงไม่ค่อยแพร่หลายนัก” รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Halal Route”
“สำหรับทีมผู้พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันนี้ไม่ใช่เครื่องมือนำทาง สั่งอาหาร หรืออำนวยความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเท่านั้น แต่จะมีส่วนสำคัญในการหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยวิถีฮาลาลให้เติบโตแบบก้าวกระโดด”
“และที่สำคัญ แอปพลิเคชัน Halal Route จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชนชาวมุสลิมจากทั่วโลกที่มีโอกาสมาเยือนไทย ได้มาพูดคุย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจในมุมต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย” รศ.ดร.วินัยกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ ทั้งบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Halal Route ได้แล้ว ฟรี รองรับทั้งบนระบบ IOS และ Android