ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงาม ประกอบกับชาวชุมชน “บ้านธรรมชาติล่าง” ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด มองเห็นโอกาสของพื้นที่ตั้ง แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาและอีกด้านติดทะเลอ่าวไทย แต่ที่นี่เป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีจุดหมายสู่เกาะช้าง เนื่องจากมีท่าเรือเฟอรี่เพื่อข้ามไปยังเกาะช้างอยู่ใจกลางหมู่บ้าน
ชาวชุมชนบ้านธรรมชาติล่างส่วนใหญ่ มีอาชีพทำประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรม วิถีการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่มีอัตลักษณ์ในหลายๆด้าน อาทิ วิถีชีวิตชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตลักษณ์ของการเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันด้วยความเข้มแข็ง พร้อมที่จะรับฟังและเปิดรับโอกาสใหม่ๆที่เข้ามา
ซึ่งตลอดเส้นทางของการยกระดับจากชุมชนเล็กๆ สู่การเป็น “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด” ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เข้าไปดำเนินกิจการโรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออกในพื้นที่มาเป็นเวลานาน จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ไม่ต่างไปจากการเป็นลูกหลานที่ต้องตอบแทนคุณให้กับพื้นที่บ้านเกิด ซีพีเอฟ เข้ามาดำเนินธุรกิจในพื้นที่ที่นี่ ตั้งแต่ปี 2544 เดินหน้าเติบโตไปพร้อมกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ต่อยอดสู่การส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพอตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการปุ๋ยอินทรีย์นาโน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรของชุมชน ซึ่งเกิดจากแนวคิดเริ่มต้นนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ฟาร์มทำใช้เองมาพัฒนาร่วมกับผู้นำชุมชน และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ จากจุดเริ่มต้นเรื่องปุ๋ยเพื่อชุมชน
ซีพีเอฟเล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำชุมชน และทุนทางธรรมชาติของบ้านธรรมชาติล่าง ที่มีทั้งสวนผลไม้ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิต ผนวกกับวิถีประมงพื้นบ้าน และยังมีทะเลสวยที่ชายหาดมีความพิเศษด้วยหินลาวา เกิดเป็นหาดทรายแดง รวมถึงปะการังน้ำตื้น รวมถึงภูเขารายลอบที่สวยงามด้วยวิวหลักล้าน เมื่อเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวที่ต้องผ่านไปเกาะช้างอยู่แล้ว บริษัทจึงอาสาเข้ามาผสานพลังกับชุมชน ขีด คิด ร่วมข่าย จัดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ภายใต้ชื่อ “โครงการปุ๋ยอินทรีย์นาโน สู่การท่องเที่ยว” และผลักดันสู่การขอจดทะเบียนเป็น วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ ด้วยพลัง 3 วัย วัยเก๋า วัยรุ่น และวัยเด็ก ที่ช่วยกันนำจุดแข็งของแต่ละวัยมาใช้ ผนวกกับความเข้มแข็งของผู้นำ และพลังของคนรุ่นใหม่ที่รักบ้านเกิดมาร่วมกันผลักดันกับทีมงานของซีพีเอฟ จึงเกิดโครงการเชื่อมโยงอีกหลากหลายโครงการ อาทิ “โครงการน้ำดื่มชุมชน” จากโรงงานน้ำดื่มที่ต้องปิดตัวลงเพราะขาดองค์ความรู้ ซีพีเอฟ ได้นำความเชี่ยวชาญไปถ่ายทอดและสร้างมาตรฐานใหม่ เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชน ขยายกำลังการผลิตน้ำดื่มเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีสมาชิกถือหุ้น 142 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึง 2,582 คน จากรายได้เกือบล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมี “โครงการนวัตกรรมถังหมักรักษ์ดิน” เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ที่ขยายผลสำเร็จจากฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก ไปยังศูนย์เพาะฟักลูกกุ้งของซีพีเอฟทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การขยายการจัดการขยะสู่ชุมชน และสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะชุมชน ที่กลายเป็นโมเดลต้นแบบ Waste to Value ที่สอดคล้องกับนโยบายจังหวัดตราด “โครงการบ้านสะอาด เมืองตราด สวยสะหงาด” อีกหนึ่งไฮไลท์ที่กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว คือ “โครงการผ้าสามป่า อ.แหลมงอบ” ผลิตภัณฑ์ผ้าประจำพื้นถิ่นของ จ.ตราด ที่ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาผ้าสามป่า ทั้งป่าชุมชน ป่าสมุนไพร ป่าชายเลน ขยายผลสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว อาทิ เสื้อสามป่า แก้ว กระเป๋า ตุ๊กตา ฯลฯ สร้างอาชีพและรายได้แก่ชาวชุมชน ต่อยอดสู่การจำหน่ายผ่านออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ ออกร้านจำหน่าย โครงการนี้สร้างรายได้ถึง 800,000 บาท ในเวลา 2 ปี มีรายได้เสริมครอบครัวละ 5,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ครัวเรือน และผ้าสามป่ายังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมขนที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด ได้รับโอกาสขึ้นโชว์บนเวทีประกวด Miss Grand Trat 2023 ที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง เป็นต้นแบบของโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจสู่จังหวัด สะท้อนความสำเร็จที่เกิดจากการอาศัยจุดแข็งและประสบการณ์ของภาคเอกชนที่เข้าดำเนินธุรกิจในพื้นที่ ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าร่วมทางสังคม โดย ณ สิ้นปี 2566 ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากกว่า 5 ล้านบาท ด้านสังคม ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนที่มีสมาชิก 21,757 คน ด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะได้เฉลี่ยปีละ 5 ตัน เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling
ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ในรอบปี 2565-2566 มีรางวัลที่ชุมชนได้รับจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ รางวัลการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ระดับประเทศ รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) การประกวดนวัตกรรมโครงการ NIA รางวัลผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ จากกระทรวงมหาดไทย รางวัลผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสามป่า ผลิตภัณฑ์ “ดี” ระดับจังหวัด วิสาหกิจชุมชนดีเด่น จ.ตราด มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) และล่าสุด ยังได้รับรางวัลสูงสุด จากการจัดประกวดโครงการด้านความยั่งยืน (Sustainability) ของซีพีเอฟจากทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเป็นคณะกรรมการร่วมตัดสิน วันนี้…วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ไม่ใช่ชุมชนทางผ่านอีกต่อไป แต่ที่นี่ คือ ชุมชนแห่งรอยยิ้ม ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ จากความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่างเติบโตได้อย่างยั่งยืน