ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,156 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว เนื่องจากในเดือนธันวาคมมีวันหยุดราชการและเป็นช่วงเวลาการส่งท้ายปีเก่า ในปีนี้ทางรัฐบาลประกาศ วันที่ 29 ธ.ค.2566-1 ม.ค.2567 เป็นวันหยุดยาว 4 วันในช่วงปีใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทย คนกรุงเทพมหานครจะนิยมออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลานี้ การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ในส่วนของการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับแรกคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ53.8 อันดับสองคือ อาหารแห้ง ร้อยละ 41.5 อันดับสามคือ เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 39.2 อันดับสี่คือ ของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 34.7 และอันดับห้าคือ เครื่องใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 34.5
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในภาคเหนือ อันดับแรกคือ ใบชา ร้อยละ 47.4 อันดับสองคือ น้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 42.8 อันดับสามคือ แหนม ร้อยละ 39.3 อันดับสี่คือ ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 34 และอันดับห้าคือ หมูยอ ร้อยละ 31.1
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือ น้ำพริก ร้อยละ 46.9 อันดับสองคือ หมูยอ ร้อยละ 43.3 อันดับสามคือ แหนม ร้อยละ 39.4 อันดับสี่คือ ปลาร้า ร้อยละ 32.5 และอันดับห้าคือ แหนมเนือง ร้อยละ 32.2
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก อันดับแรกคือ ข้าวหลาม ร้อยละ 46.1 อันดับสองคือ ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 40.6 อันดับสามคือ น้ำปลา ร้อยละ 38.6 อันดับสี่คือ อาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 34.9 และอันดับห้าคือ ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 34.7
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในภาคตะวันตก อันดับแรกคือ มะขามสามรส ร้อยละ 47.1 อันดับสองคือ ขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 44.6 อันดับสามคือ ทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 43.8 อันดับสี่คือ ขนมหม้อแกง ร้อยละ 35.2 และอันดับห้าคือ วุ้นเส้น ร้อยละ 30.7
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในภาคกลาง อันดับแรกคือ ขนมเค้ก ร้อยละ 45.2 อันดับสองคือ กะหรี่พัฟ ร้อยละ 43.8 อันดับสามคือ ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 42.5 อันดับสี่คือ ปลาแห้ง ร้อยละ 34.7 และอันดับห้าคือ สายไหม ร้อยละ 32.2
การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวในใต้ อันดับแรกคือ น้ำพริก ร้อยละ 43.9 อันดับสองคือ ปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 43.5 อันดับสามคือ กุ้งแห้ง ร้อยละ 42.3 อันดับสี่คือ เครื่องแกง ร้อยละ 37.5 และอันดับห้าคือ กะปิ ร้อยละ 33.5
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะใช้จ่ายในการซื้อของฝาก อันดับแรกคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 57 อันดับสองคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 35.6 และอันดับสามคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 4.4 และอันดับสุดท้าย คือ มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 3
และการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของท่านได้มีการตรวจดูสลากสินค้า สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 79.2