- จารึกบนหินในหุบเขาจาบาล อิกมาห์ ซึ่งบอกเล่าชีวิตประจำวันในอาณาจักรดาดันไนท์โบราณ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
- จาบาล อิกมาห์ แห่งเมืองอัลอูลา เป็นแหล่งจารึกตัวอักษรดาดันนิติกมากที่สุดในโลก
องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน จาบาล อิกมาห์ (Jabal Ikmah) แห่งเมืองอัลอูลา เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Register) ซึ่งถือเป็นการยอมรับความพยายามของราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ในการอนุรักษ์มรดกเอกสาร (Documentary Heritage) ที่ยังหลงเหลือมาจากยุคโบราณ
ภูเขาอันงดงามที่ประกอบด้วยหุบเขาหินทราย มีจารึกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้น โดยส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล สถานที่แห่งนี้รวบรวมจารึกเกี่ยวกับอาณาจักรดาดันไนท์ (Dadanite Kingdom) เอาไว้มากที่สุด ทั้งบันทึกพิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
ราชกรรมาธิการอัลอูลามีบทบาทในการผลักดันวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย และกำลังทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการศึกษาและอนุรักษ์โบราณสถานต่าง ๆ อย่างเช่น จาบาล อิกมาห์ ซึ่งเป็นห้องสมุดกลางแจ้งที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความพยายามในการส่งเสริมให้ทั่วโลกมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับจาบาล อิกมาห์ พร้อมกับการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วยแนวทางที่ยั่งยืน ทำให้ยูเนสโกยอมรับต่อสาธารณชนถึงความสำคัญระดับนานาชาติของมรดกเอกสารแห่งเมืองอัลอูลานี้
คุณโฆเซ อิกนาซิโอ กัลเลโก เรบีญา (Jose Ignacio Gallego Revilla) ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโบราณคดี การวิจัย และการอนุรักษ์มรดกของสถาบันราชอาณาจักร (Kingdoms Institute) แห่งราชกรรมาธิการอัลอูลา กล่าวว่า “ความสำคัญของจารึกแห่งจาบาล อิกมาห์ ก้าวข้ามพรมแดนระดับภูมิภาคไปสู่ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการภาษาถิ่นและภาษาอาหรับโบราณ ความถูกต้องและความสมบูรณ์ของจารึก ทั้งในแง่ของข้อมูลที่บันทึกเกี่ยวกับสังคมในสมัยโบราณและการอนุรักษ์สถานที่ นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ควรค่ากับสถานะมรดกความทรงจำแห่งโลก ในฐานะบันทึกเหตุการณ์ในอดีตผ่านจารึกอักษรอาหรับเหนือโบราณ (Ancient North Arabian) จำนวนมากที่สุด”
ในสมัยโบราณ โอเอซิสอัลอูลาเป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าเครื่องหอมและเส้นทางจาริกแสวงบุญ จึงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ โดยให้การต้อนรับเหล่าพ่อค้ายางไม้หอม กำยาน และสินค้ามีค่าอีกมากมาย ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมนี้ได้ก่อให้เกิดการลงหลักปักฐาน หนึ่งในนั้นคืออาณาจักรดาดันไนท์ที่เจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนารูปแบบอักษรของตนเองด้วยระบบการเขียนแบบกลุ่มภาษาเซมิติกใต้ (South Semitic) ชาวดาดันไนท์ได้บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านภาพสลักบนหินทรายสีแดงและเหลืองในอัลอูลา จารึกที่มีจำนวนมากที่สุดนี้อยู่ในหุบเขาจาบาล อิกมาห์ ที่มีภูมิประเทศขรุขระอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกระหว่างการก่อตัวของทะเลแดงเมื่อ 30 ล้านปีก่อน
จารึกจำนวนมากที่จาบาล อิกมาห์ สะท้อนเรื่องราวอันหลากหลาย เช่น กษัตริย์ พิธีกรรม เกษตรกรรม และสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับเมืองอัลอูลาในอดีต การอนุรักษ์สถานที่สำคัญเช่นนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของอัลอูลา โดยราชกรรมาธิการอัลอูลาได้เน้นย้ำถึงมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองอัลอูลาทั้งในด้านการท่องเที่ยว การส่งเสริมนวัตกรรม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
การได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือที่มีอยู่เดิมระหว่างราชกรรมาธิการอัลอูลากับยูเนสโก ขณะเดียวกัน เครือข่ายพันธมิตรด้านวัฒนธรรมระดับโลกของราชกรรมาธิการอัลอูลา ได้แก่ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรือ อิโคโมส (ICOMOS), พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) และสำนักงานเพื่อการพัฒนาอัลอูลาของฝรั่งเศส (Afalula) ล้วนมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอัลอูลาให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกด้านมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ทั้งนี้ ราชกรรมาธิการอัลอูลาจัดตั้งสถาบันราชอาณาจักรขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านโบราณคดี การวิจัยมรดก และการอนุรักษ์ ปัจจุบัน สถาบันดำเนินการในฐานะองค์กรวิจัย และจะตั้งสำนักงานถาวรในเขตดาดันของเมืองอัลอูลา ซึ่งคาดว่าภายในปี 2578 จะก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวสองล้านคนต่อปี
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
ชื่อเมืองอัลอูลาในภาษาอังกฤษสะกดว่า AlUla เสมอ ไม่ใช่ Al-Ula
เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา
ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองต่อความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2084740/AlUla_Jabal_Ikmah_1.jpg
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2084742/AlUla_Jabal_Ikmah_2.jpg
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2084743/AlUla_Jabal_Ikmah_3.jpg