ทิศทางการจัดการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่กระแสรักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่ที่ได้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ”COP26″ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ต่อเนื่องด้วยการประชุม “COP27” ณเมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและบริการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า แม้กระแสเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการจัดการท่องเที่ยวทั่วโลก
แต่ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากการประเมินโดยเกณฑ์ Travel & Tourism Development Index โดย World Economic Forum 2021 ที่ผ่านมาพบว่ายังขาดน้ำหนักด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์ของทุนวัฒนธรรม การให้ลำดับความสำคัญกับการท่องเที่ยวและเปิดกว้างสู่ความเป็นนานาชาติ
จึงเป็นที่มาสู่ทางออกของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้กลับฟื้นคืนอีกครั้ง โดยทางภาครัฐได้มีการวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่ “เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ” เพื่อการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดมิติใหม่สู่การทำให้ประเทศไทยได้เป็น “ศูนย์กลางแห่งการเป็นประเทศปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ” ที่โดดเด่นของภูมิภาค
พร้อมสนองเทรนด์ใหม่ การท่องเที่ยวไทยได้เปิดรับ”Workation” ที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม Digital Nomad สามารถทำงานพร้อมได้พักผ่อนไปด้วยในตัว นอกจากนี้ยังมีการนำSoft power ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของไทย 5 ประเภท ได้แก่อาหาร (Food) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) เทศกาลประเพณี (Festival) และภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มาช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการการท่องเที่ยว อาศัยพลังละมุนของทุนวัฒนธรรมช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์อันลึกซึ้งและมีความหมาย
“การวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ ไม่ได้หมายถึง “การเลือกปฏิบัติ” ต่อนักท่องเที่ยวแต่เป็นการวางทิศทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยได้ในภาพรวม” รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ กล่าว
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยไม่ได้มาเพียงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะประเทศไทยมีบริการการท่องเที่ยวที่หลากหลายยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับการบริการด้านสุขภาวะที่คุณภาพดีและคุ้มค่า นักท่องเที่ยวธุรกิจจะได้สัมผัสกับการเป็น “ศูนย์กลางจัดประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐานโลก” ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมความประทับใจด้วยสินค้าและการบริการที่โดดเด่นแตกต่าง
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ ได้มองถึงความพร้อมของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายของการเปิดมิติใหม่ทางการท่องเที่ยวว่า ภาครัฐมีทิศทางที่เหมาะสมแต่ต้องมีการดำเนินการที่จะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้ไปต่อได้อย่างมั่นคง
ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือเรื่องการลดต้นทุนการประกอบการ และการขาดแคลนแรงงาน การสนับสนุนมาตรการด้านภาษี รวมถึงการช่วยเหลือด้านฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว และการทำ dashboard ของนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะลึกถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม และพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางตามที่ยุทธศาสตร์ได้วางไว้
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบุคลากรคุณภาพด้านการจัดการท่องเที่ยวและบริการ โดย MUIC ได้จัดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนแบบนานาชาติ การันตีคุณภาพจากการรับรองมาตรฐาน AUN-QA (ASEAN University Network – Quality Assurance) และ UNWTO.TedQual จาก United Nation World Tourism Organization (UNWTO)
นอกจากนี้ยังได้จัดหลักสูตรโดยเพิ่มรายวิชา
“Health & Wellness” เพื่อสนองรับนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมุ่งผลิตนักศึกษาให้เป็น Global Citizen ภายใต้บริบทการเรียนการสอนแบบนานาชาติ ที่จะทำให้ได้บัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็น และเริ่มงานได้ทั่วโลก
การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ผลตอบแทนที่ได้ไม่ใช่เพียงการทำ “รายได้” เข้าประเทศ แต่จะเป็นการสร้าง”ต้นทุนแห่งความยั่งยืน” ที่ประเมินค่าไม่ได้ จากการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะที่เปี่ยมด้วยคุณค่า และความหมาย พร้อมโอบกอดโลกไว้ด้วยหัวใจสีเขียว
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล