งานประชุม ATF 2566 ร่วมใจเสริมสร้างกระบวนการเชิงกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน

กลุ่มประเทศอาเซียนตกลงที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของขั้นตอนความร่วมมือ เพื่อระบุขั้นตอนและดำเนินการเชิงกลยุทธ์ โดยปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Strategic Plan) หรือ ATSP ปี 2559-2568

การประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Forum) หรืองาน ATF ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองยอกยาการ์ตาระหว่างวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งผลให้เกิดข้อตกลงร่วมกันของหลายประเทศในอาเซียนในการเพิ่มบทบาทของการท่องเที่ยว และผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโอกาสการจ้างงานในภูมิภาค ซึ่งทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก

นายซานเดียกา ซาลาฮุดดิน อูโน (Sandiaga Salahuddin Uno) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์/หัวหน้าสำนักงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระหว่างแถลงการณ์ร่วมที่งาน ATF 2566 เมื่อวันอาทิตย์ (5/2/2566) ที่โรงแรมแมริออท ยอกยาการ์ตา (Marriot Yogyakarta) ระบุว่าในงาน ATF ปี 2566 นี้ กลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับการหารือเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ATSP) ปี 2559-2568 ดังนั้น ผู้แทนทั้งหมดต่างชื่นชมการดำเนินการของหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติอาเซียน (ASEAN National Tourism Organization) ตามข้อตกลงก่อนหน้านี้

แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ATSP) เป็นกลยุทธ์ของอาเซียนในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“กลุ่มประเทศในอาเซียนสนับสนุนให้องค์กรการท่องเที่ยวแต่ละแห่งของอาเซียนระบุขั้นตอนและกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มแผนยุทธศาสตร์ ATSP ในปีต่อ ๆ ไป” รัฐมนตรีซานเดียกากล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า 60% ของกลยุทธ์และขั้นตอนที่ดำเนินการเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เป็นไปตามแผนการทำงานของ ATSP การประชุมในครั้งนี้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการต่อไป และประเมินผลกิจกรรมที่มีความสำคัญของตนใหม่ให้เป็นไปตามแนวทางของ ATSP

ในฐานะประธานการประชุม ATF ปี 2566 รัฐมนตรีซานเดียกาเปิดเผยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนและพาร์ตเนอร์ต่างก็ชื่นชมนโยบายการผ่อนคลายและการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนอาเซียนในปี 2565 เพิ่มขึ้น 1,706% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“อัตราการเข้าพักในโรงแรมก็เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2564” เขากล่าวเสริม กลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำงานร่วมกันอย่างไม่ลดละในการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางที่คนเลือกมาเที่ยว โดยพยายามสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย ความอบอุ่น ความยืดหยุ่น ความตื่นเต้น และการผจญภัย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน

หนึ่งในการทำงานร่วมกันคือการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของเรือสำราญ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในอาเซียนได้

“ที่ประชุมยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมการขายและการตลาด” เขาอธิบาย

นายซานเดียกากล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุม ATF ในปี 2566 ยังเห็นชอบในประเด็นอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียนผ่านข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (Mutual Recognition Arrangement for Tourism Professionals / MRA-TP) และเพิ่มการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ ยั่งยืน และครอบคลุม

“นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและนำการท่องเที่ยวรูปแบบดิจิทัลเข้ามาใช้” เขากล่าวสรุป

ผู้แทนที่เข้าร่วมการแถลงการณ์ร่วม ได้แก่ ฝั่ม กว๋าง มิญ (Pham Quang Minh) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ประธานฝ่ายการพัฒนาเฉพาะเรื่องสำนักเลขาธิการอาเซียน; ดว่าน วัน เวี้ยต (Doan Van Viet) รองรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม; นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเทศไทย; จูเลียนา คัว (Juliana Kua) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวสิงคโปร์; คริสตินา การ์เซีย ฟราสโก (Christina Garcia Frasco) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ และสวนสวรรค์ วิยะเกต (Suanesavanh Vignaket) รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยวลาว

นอกจากนี้ยังมี ตูเทียติ อับดุล วาฮับ (Tutiaty Abdul Wahab) ปลัดกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไนดารุสซาลาม; ธก สุขุม (Thok Sokhom) ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา; ดาโต๊ะ ซรี เตียง คิง ซิง (Dato Sri Tiong King Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมมาเลเซีย; ไชยันต์ นัมเดอเรา คอบรากาเด (Jayant Namdeorao Khobragade) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอาเซียน และมิตสึอากิ โฮชิโนะ (Mitsuaki Hoshino) รองกรรมาธิการสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

อี กุสตี อายู เดวี เฮนดรียานี (I Gusti Ayu Dewi Hendriyani)
หัวหน้าสำนักสื่อสาร
กระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์/
สำนักงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ