ผลสำรวจเผยนักเดินทางเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หลังการท่องเที่ยวฟื้นตัวจากโควิดแต่ยังเผชิญความไม่แน่นอน

  • ผลสำรวจของยูโกฟใน 11 ประเทศเผยให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 44% ต้องการเทคโนโลยีและกฎระเบียบใหม่ที่ช่วยผ่อนคลายการเดินทาง
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 34% ต้องการให้การท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น และ 29% อยากให้โลกและสุขภาพมาก่อนผลกำไร
  • แม้สภาพเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ผู้ตอบแบบสำรวจ 42% ยังคงวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 64% ไม่คิดจะเดินทางเพื่อทำธุรกิจ ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ผลสำรวจระดับโลกเผยให้เห็นว่า นักเดินทางต้องการให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับบทเรียนจากสถานการณ์โรคระบาดและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมให้ดีกว่าเดิม

ผลสำรวจอนาคตของการท่องเที่ยว (Future of Tourism Survey) ได้สำรวจทัศนคติที่มีต่อการท่องเที่ยวและความคาดหวังของผู้บริโภคใน 11 ประเทศทั่วโลก และพบว่า

  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 44% ต้องการให้มีแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพที่สอดคล้องกันมากขึ้น และต้องการให้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การเดินทางราบรื่นมากขึ้น
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 34% ต้องการเห็นความยั่งยืนมากขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 29% ต้องการเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับสุขภาพและความยั่งยืนมากกว่าผลกำไร
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 33% เรียกร้องให้มีการคุ้มครองทางการเงินแก่นักเดินทางมากขึ้นหลังประสบกับสถานการณ์โรคระบาด

ผู้ตอบแบบสำรวจจากจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ต้องการให้มีแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพที่สอดคล้องกันมากขึ้นและเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเดินทางราบรื่นขึ้นมากที่สุด

กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบียได้มอบหมายให้ยูโกฟ (YouGov) ทำการสำรวจครั้งนี้ โดยมีการสำรวจประชาชนเกือบ 14,000 คน ใน 11 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ สเปน และสวีเดน

คุณอาเหม็ด อัล คาตีบ ( Ahmed Al Khateeb) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า “สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก และแสดงให้เราทุกคน ทั้งนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เห็นว่าเราสามารถทำสิ่งที่แตกต่างออกไปได้”

“ผลสำรวจอนาคตของการท่องเที่ยวแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้เราได้รับบทเรียนจากสถานการณ์โรคระบาดและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ด้วยการยกให้สุขภาพ ความยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวในอนาคต”

ผลสำรวจพบว่าทัศนคติของนักเดินทางเปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดโรคระบาดนานสองปีและมีการล็อกดาวน์จนทำให้การเดินทางถูกจำกัด โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 55% มีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ขณะที่ 32% รู้สึกอยากเดินทางไปต่างประเทศมากกว่าก่อนเกิดโควิด

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้บั่นทอนความกระตือรือร้นในการเดินทางในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากการสำรวจทั่วโลกพบว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 42% ที่มีแนวโน้มหรือมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่ 39% ไม่มีแนวโน้มหรือไม่มีแนวโน้มอย่างมากที่จะทำเช่นนั้น

การเดินทางเพื่อทำธุรกิจได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 18% ที่มีแนวโน้มหรือมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเดินทางไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ

ชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกัน มีแนวโน้มเดินทางไปต่างประเทศน้อยที่สุด ตรงข้ามกับชาวอังกฤษ อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย ที่มีแนวโน้มสูงสุดในการเดินทางไปต่างประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ผลสำรวจอนาคตของการท่องเที่ยวได้รับการเผยแพร่ก่อนการประชุมสภาผู้บริหารองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ครั้งที่ 116 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย

วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตทั้งในส่วนของความยั่งยืนและความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้น

ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด การเดินทางและการท่องเที่ยว (รวมถึงผลกระทบทางตรง ทางอ้อม และอิทธิพล) คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของตำแหน่งงานใหม่ทั้งหมดทั่วโลก นอกจากนั้นยังคิดเป็นสัดส่วน 10.3% ของตำแหน่งงานทั้งหมด (333 ล้านตำแหน่ง) และ 10.3% ของจีดีพีทั่วโลก (9.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

คุณอาเหม็ด อัล คาตีบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า “ซาอุดีอาระเบียเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของการท่องเที่ยว เราเพิ่งเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความสามารถและความมุ่งมั่นที่จะคิดและลงมือทำในรูปแบบที่แปลกใหม่และแตกต่างออกไป”

“ด้วยการผสมผสานวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ และทรัพยากรที่เพียบพร้อม เราจึงสามารถสร้างสรรค์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งมีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น เราตั้งตารอที่จะแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและทำงานร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลกเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้กับการท่องเที่ยว”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ได้เผยแพร่ดัชนีการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Development Index) ซึ่งเผยให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียไต่ขึ้นมา 10 ขั้น จนรั้งอันดับที่ 33 ของโลก ดัชนีดังกล่าวเปรียบเทียบ 117 ประเทศ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 17 ประการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาและความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ

ซาอุดีอาระเบียกระโดดจากอันดับ 43 ในปี 2562 มาอยู่ที่อันดับ 33 ในปี 2564 ซึ่งถือว่าไต่อันดับมากที่สุดเป็นอันดับสองของการจัดทำดัชนี โดยเป็นผลมาจากพัฒนาการที่ดีขึ้นในเกือบทุกเกณฑ์การประเมิน รายงานนี้เป็นรายงานฉบับแรกที่มีการจัดทำขึ้นนับตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2562

ทั้งนี้ สภาผู้บริหารองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) จะประชุมร่วมกันที่เมืองญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

เกี่ยวกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย

กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้กำกับดูแลระบบนิเวศการท่องเที่ยวของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบียและกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว ทางกระทรวงฯ เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงมีหน้าที่พัฒนานโยบายและกฎระเบียบของอุตสาหกรรม พัฒนาทุนมนุษย์ รวบรวมข้อมูลสถิติ และดึงดูดการลงทุน ทางกระทรวงฯ ทำงานร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้ซาอุดีอาระเบียเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก และกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกลยุทธ์การลงทุนของกระทรวงฯ ด้วยการจัดหาเงินทุนสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบียก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และอยู่ภายใต้การบริหารของคุณอาเหม็ด อัล คาตีบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2562 และตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยว 100 ล้านคนภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 10% นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ยังดำเนินโครงการดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอโซลูชันทางเทคนิคในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ

เกี่ยวกับองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ยั่งยืน และเป็นสากล

ในฐานะองค์กรการท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก UNWTO ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างครอบคลุมทั่วถึง และการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการพัฒนาองค์ความรู้และนโยบายการท่องเที่ยวทั่วโลก

ระเบียบวิธีการสำรวจของยูโกฟ

  • สัมภาษณ์ออนไลน์โดยคณะผู้สำรวจของยูโกฟ ร่วมกับคณะผู้สำรวจของพันธมิตร

กลุ่มเป้าหมาย

  • พลเมืองของประเทศตามรายชื่อด้านล่าง
  • ผู้ชายและผู้หญิง อายุ 18 ปีขึ้นไป (กลุ่มตัวอย่างประชากรทั่วไป)

ขนาดตัวอย่าง

ประเทศ                                               ตัวอย่าง  ตัวแทนจาก
สหรัฐอเมริกา 1000 ทั่วประเทศ
สหราชอาณาจักร   2000 ทั่วประเทศ
สเปน 1000 ทั่วประเทศ
อินเดีย 1000 เขตเมือง
จีน 1000 ออนไลน์
ซาอุดีอาระเบีย 1000 เขตเมือง
เม็กซิโก 1000 เขตเมือง
เยอรมนี 2000 ทั่วประเทศ
ญี่ปุ่น 1000 ทั่วประเทศ
เกาหลีใต้ 1000 ทั่วประเทศ
สวีเดน 1000 ทั่วประเทศ
รวม 13,000

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1830563/YouGov_tourism_survey.jpg
พีดีเอฟ – https://mma.prnewswire.com/media/1830562/Future_tourism_survey.pdf

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ