อโกด้า เผยผลการสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 พบคนไทยมองการท่องเที่ยวภายในประเทศในแง่ดี

อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว เปิดเผยผลการสำรวจในหัวข้อ เทรนด์การท่องเที่ยวเมื่อการเดินทางกลับมาอีกครั้ง ปี 2021 โดยพบว่าคนไทยมองการท่องเที่ยวภายในประเทศในแง่ดี และต้องการท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อเป็นไปได้ ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของคนไทยมีความคิดอยากท่องเที่ยวภายในประเทศภายใน 2 เดือนแรกหลังข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวถูกยกเลิกแล้ว ในขณะที่ 1 ใน 5 พร้อมที่จะออกเดินทางทันที นอกจากนี้ผลการสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายเทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทยหลังสถานการณ์โควิด-19

คนไทยยังอยากท่องเที่ยวภายในประเทศ

คนไทยพร้อมที่จะไปสำรวจความมหัศจรรย์ของสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งเมื่อข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวถูกยกเลิก และเมื่อปลอดภัยที่จะเดินทาง เทียบกับคนฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามแล้ว (8%, 12% และ 5% ตามลำดับ) คนไทย (20%) มีความตั้งใจที่จะออกเดินทางอีกครั้งทันทีหลังข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวในประเทศถูกยกเลิกแล้วมากกว่า

  • คนไทยเพศชาย (50%) มีแนวโน้มที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศภายใน 6 เดือนข้างหน้ามากกว่าคนไทยเพศหญิง (45%) เล็กน้อย โดยผู้ตอบแบบสำรวจเพศชาย (22%) มีความคิดอยากออกเดินทางทันทีเมื่อข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวถูกยกเลิก มากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจเพศหญิง (19%)
  • ภายในกรอบระยะเวลาเดียวกัน คนไทย Gen X (ค.ศ. 1965-1980) มีความอยากท่องเที่ยวมากที่สุด (51%) ตามมาด้วย Millennial หรือ Gen Y (ค.ศ. 1981-1996) (49%), Baby Boomer (ค.ศ. 1946-1964) (47%) และ Gen Z (ค.ศ. 1997-2009) (41%)

คนไทยมองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปในแง่ดี โดย 3 ใน 5 คาดหวังว่าจะสามารถท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ซึ่ง 38% ของคนกลุ่มนี้คาดหวังว่าจะท่องเที่ยวแบบไม่มีข้อจำกัดได้ ส่วนอีก 23% คาดหวังว่าจะท่องเที่ยวได้แต่คงยังมีข้อจำกัด หรือต้องท่องเที่ยวผ่านทราเวลบับเบิล (travel bubble) หรือทราเวลคอริดอร์ (travel corridor) เท่านั้น

  • ผู้ตอบแบบสำรวจเพศชาย (63%) มีแนวโน้มที่จะคิดว่าการเดินทางจะกลับมาอีกครั้งภายใน 6 เดือนข้างหน้า มากกว่าเพศหญิง (59%)
  • เช่นเดียวกับความอยากท่องเที่ยว คน Gen X (70%) มีแนวโน้มที่จะคิดว่าการเดินทางจะกลับมาอีกครั้งภายใน 6 เดือนข้างหน้ามากที่สุด ตามมาด้วย Millennial หรือ Gen Y (60%), Baby Boomer (56%) และ Gen Z (54%)

พฤติกรรมด้านการเดินทางที่เปลี่ยนไป

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 คนไทยไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าการไปเที่ยวสถานที่ใหม่ ๆ (#1) การไปเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักแทนสถานที่ท่องเที่ยวหลัก (#1) และการไปเที่ยวสถานที่ที่เคยไปแล้ว โดยมองในมุมใหม่ (#3) คือ 3 ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตามมาด้วยการสนับสนุนโรงแรมอิสระ รวมถึงธุรกิจในท้องถิ่น (#4) และการจองแพ็คเกจท่องเที่ยวพิเศษ ที่มีอาหารและเครื่องดื่ม โปรโมชั่นสปา หรือการอัปเกรดห้องพักรวมอยู่ด้วย (#5) นอกจากนี้ผลการสำรวจดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านประเภทของสถานที่ท่องเที่ยวด้วย โดยอาการเบื่อบ้าน รวมถึงการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้คนไทยหันไปสนใจการไปท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ป่าไม้/ภูเขาและชนบท มากกว่าการไปท่องเที่ยวในเมือง/ชานเมือง

คุณทอม ฟาน ดัน, ผู้อำนวยการระดับประเทศ (ประเทศไทย) ฝ่ายพาร์ทเนอร์ เซอร์วิส, อโกด้า กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้น และดีใจที่ได้เห็นว่าคนไทยยังคงต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยให้การตอบรับที่ดีต่อความพยายามของรัฐบาล, ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ (online travel agency) และผู้ประกอบการในการช่วยกันฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหาด ภูเขา และเมืองที่มีชีวิตชีวา เราหวังว่าเมื่อข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวเริ่มถูกยกเลิก เราจะได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยจะยังคงได้รับดีลราคาคุ้มค่าทั่วประเทศ สำหรับการไปท่องเที่ยว สนับสนุนธุรกิจในอุตสาหกรรมการบริการต่อไป”

ที่มา: สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ