อาหารไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นตัวแทนของความเป็นไทยที่สะท้อนถึงความประณีตของศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารที่สั่งสมสืบทอดมานานนับศตวรรษ ความมหัศจรรย์ของอาหารไทยมิได้มีดีเพียงความอร่อยอย่างเดียวแต่มีประโยชน์กับสุขภาพอย่างอเนกอนันต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และเว็บไซต์ชิมไทยดอทคอม เปิดตัวโครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy) เชิญทั่วโลกเปิดประสบการณ์ใหม่กินอาหารไทยเป็นยา
คุณชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สืบสานรักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ที่ผ่านมากรม ฯ จึงได้ขึ้นทะเบียนอาหารไทย 20 รายการ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ ต้มยำกุ้ง แกงเผ็ด แกงพุงปลา แกงเขียวหวาน ส้มตำ เป็นต้น และในอนาคตเราตั้งใจที่จะขึ้นทะเบียนอาหารไทยอีกหลายรายการ การจะสืบสานวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น มรดกภูมิปัญญาก็ต้องมีชุมชนหรือชาวบ้านที่เป็นเจ้าของมรดกมาต่อยอดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมกันจัดโครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy) ขึ้นเพื่อยกระดับวัฒนธรรมอาหารไทยสู่นานาชาติด้วยการนำเสนอคุณประโยชน์ของอาหารไทยในมิติของสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำโครงการ ฯ นี้ ที่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทุกคนใส่ใจเรื่องการกินมากขึ้น อาหารไทยคือ Soft Power ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงนานาประเทศ ผมมั่นใจว่าโครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy) จะตอกย้ำให้ทั่วโลกเชื่อมั่นเรื่องความอร่อยของอาหารไทยและยังสร้างมุมมองใหม่ที่ว่า อาหารไทยเป็น “ยาที่อร่อยที่สุดในโลก” ได้แน่นอน”
พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า “อาหารไทยมีองค์ประกอบเป็นสมุนไพรไทยพื้นบ้านอยู่มากมายทั้งอร่อยและมีคุณค่าต่อสุขภาพ และยังมีสารสำคัญมากมายที่ช่วยส่งเสริมดูแลสุขภาพ ซึ่งทำให้ อาหารไทยเป็น “ยาที่อร่อยที่สุดในโลก” อย่าลืมดูแลให้มีสมุนไพรในมื้ออาหารของอาหารไทย เพื่อจะส่งเสริมเรื่องราวตรงนี้ให้กว้างไกลไปทั่วโลก”
คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวสนับสนุนว่า “การส่งเสริมอาหารไทยในรูปแบบใหม่นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนผ่านสื่อในต่างประเทศส่วนของกรมสารนิเทศที่ดูแลโดยตรงทุกช่องทางผ่านเครือข่ายของสถานทูต สถานกงสุลทั่วโลกครับ”
คุณสมรรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวสนับสนุนว่า “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศซึ่งเรามีทั่วโลก ช่วยสร้างการรับรู้และจับคู่ธุรกิจทำให้ผู้คนรู้จักกับวัตถุดิบและอาหารไทยให้มากขึ้น เราก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนเรื่องราวนี้สู่ตลาดโลกต่อไปค่ะ”
คุณโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทางธนาคารกรุงเทพพร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพได้ทราบถึงประโยชน์ของอาหารไทย Thai Taste Therapy ที่สำคัญธนาคารกรุงเทพ ร่วมมอบความพิเศษให้ลูกค้าบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ เมื่อไปรับประทานอาหารทุกร้านอาหารไทยที่ร่วมรายการนี้ จะได้รับส่วนลด 50% สำหรับเมนู Thai Taste Therapy และส่วนลดเพิ่มเติมสำหรับเมนูอื่น ๆ และยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้ายังสามารถใช้คะแนนสะสมในบัตรแลกรับเครดิตเงินคืนเพิ่มได้อีก 10%”
คุณไอริณ ฤกษะสาร ผู้บริหารโครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy) ให้ข้อมูลว่า “เฟสที่ 1 ของโครงการ ฯ เราได้เชิญเชฟชื่อดังระดับเวิลด์คลาส มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารไทยที่มีคุณประโยชน์ทางยาและส่งเสริมสุขภาพ พร้อมจับมือกับร้านอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดขายเมนูอาหาร ไทยเทสเทอราปี 3 เมนู ได้แก่ เมนูเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด เมนูอาหารจากกัญชา&กระท่อม และ เมนูสมุนไพรพื้นถิ่นของไทย โดยสามารถเยี่ยมชมและสั่งร้านอาหาร Thai Taste Therapy และสินค้าสุขภาพจากสมุนไพรไทยที่เข้าร่วมโครงการผ่านทางไลน์ @thaitastetherapy นอกจากนี้เพื่อปลุกกระแสให้คนทั่วโลกกินอาหารไทยเป็นยาช่วยรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพ เราจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม ThaiTasteTherapy.com เปิดคอร์สสอนทำอาหารไทยเป็นยาผ่านทางออนไลน์เพื่อส่งต่อสูตรอาหารไทยเทสเทอราปี พร้อมส่งออกวัตถุดิบเครื่องปรุงสมุนไพรไทยต่าง ๆ ให้ทั่วโลกสั่งซื้อได้ทางออนไลน์เพื่อไปลองทำกินเองที่บ้านได้อย่างสะดวก”
ติดตามเมนูอาหารไทยที่มีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคได้ ที่
หรือ เฟสบุ๊ก www.facebook.com/thaitastetherapy
www.thaitastetherapy.com |