ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน (AMSAR) เปิดเผยผลวิจัย “การรับรู้และเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ของคนไทย” ของนายขวัญ โม้ชา โดยมี ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์ ผู้อำนวยการศูนย์ AMSAR เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็น 1 ใน 64 เรื่องที่ได้รับตอบรับให้นำเสนอในการประชุมระดับชาติด้านการสื่อสารและบริหารจัดการ ครั้งที่ 5 ปี 2021 ซึ่งจะจัดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นี้
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ใช้วิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับคนไทยที่นิยมท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์จำนวน 10 คน เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแบบสอบถามและเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งได้แก่ คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เคยเดินทางท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560-2562) จำนวน 200 คน ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล คือ ระหว่างสิงหาคม – กันยายน 2563 ผลการวิจัยพบว่า
HIGHLIGHTS
- กลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ คือ คนเมือง ค่อนข้างรักธรรมชาติ และวิถีชีวิต เป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ มีทั้งชอบและไม่ชอบกิจการสันทนาการ
- “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” คือ ช่องทางหลักที่คนไทยใช้ประกอบตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ นิยมค้นหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วยตนเอง
- เปรียบเทียบ “ราคา-ที่พักรูปแบบอื่น-ความสะดวกและความปลอดภัย” ประกอบการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
- เจ้าของคือหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ แนะมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการบอกต่อเรื่องดีดี
- สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต้องพร้อม เพราะแม้จะรู้ว่าไม่สะดวก แต่สัญญาณมือถือก็ขาดไม่ได้!
ภูเขา-ทะเล-ชนบท สามอันดับแรก คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
ผลการวิจัยพบว่า คนไทยเกือบทั้งหมดมีประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ 1-3 ครั้งในรอบ 3 ปี โดยเกือบครึ่งหนึ่งท่องเที่ยว 2 วันต่อหนึ่งทริป โดยโฮมสเตย์ที่นิยมไปเที่ยวได้แก่ 1) ภูเขา (31.97%) 2) ทะเล (24.39%) 3) พื้นที่ชนบท (21.95%) 4) น้ำตก (12.73%) และ 5) ลำธาร (8.13%) ตามลำดับ สำหรับ 5 สาเหตุของการไปท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ คือ 1) ผ่อนคลายความเครียด 2) แสวงหาอากาศบริสุทธิ์ 3) เปิดประสบการณ์ใหม่ 4) หลุดพ้นจากความกดดัน และ 5) เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี
“ธรรมชาติ” และ “วิถีชีวิต” นิยามการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (1)
ผลวิจัยพบว่า คนไทยที่เคยเดินทางท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560-2562) รับรู้เกี่ยวกับลักษณะของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ว่า “เป็นการท่องเที่ยวที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ” ในระดับมากที่สุด ขณะเดียวกันยังรับรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็น “การท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสวิถีชีวิต” อยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ว่า คนกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ “เป็นคนรักธรรมชาติ และสนใจวิถีชีวิต” มากที่สุด โดยคนไทยรับรู้ว่า การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มีลักษณะดังนี้ 1) เสพติดธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย 4.32) 2) สัมผัสวิถีธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย 4.29) 3) ใกล้ชิดธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย 4.29) 4) ไม่ต้องยึดติดกับอะไร (ค่าเฉลี่ย 4.26) 5) ไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน (ค่าเฉลี่ย 4.26) 6) เรียนรู้วิถีชีวิต (ค่าเฉลี่ย 4.20) 7) เติมไฟในการทำงาน (ค่าเฉลี่ย 4.12) 8) คลุกคลีกับเจ้าของบ้าน (ค่าเฉลี่ย 3.89) 9) ปลีกวิเวก (ค่าเฉลี่ย 3.88) และ 10) หวนคิดถึงอดีต (ค่าเฉลี่ย 3.61)
“คนเมือง-เดินทางเป็นกลุ่ม” นิยมเดินทางท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (1)
ทั้งนี้ผลวิจัยพบว่า คนไทยรับรู้ว่า กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็น “คนเมือง” (ค่าเฉลี่ย 4.03) มากกว่า “คนชนบท” (ค่าเฉลี่ย 3.17) นอกจากนี้ยังรับรู้ว่ากลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเพื่อนสนิท เป็นคนลุย ๆ คนง่าย ๆ คนไม่ติดหรู คนรักสงบ คนรักธรรมชาติ คนสนใจวิถีชีวิต คนชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ คนอยากเปิดโลกกว้าง คนชอบลองของใหม่ ๆ คนไม่ห่วงชีวิตลำบาก อยู่ในระดับมากที่สุด ในขณะที่คนไทยรับรู้ว่า การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ไม่เหมาะกับคนรักสบาย
มีทั้งชอบ และไม่ชอบกิจกรรมสันทนาการ (1)
ผลการวิจัยพบว่า คนไทยฯ รับรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรม โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยรับรู้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.18) รองลงมา คือ การท่องเที่ยวที่ได้ทำอาหารถิ่น (ค่าเฉลี่ย 4.12) ตามด้วยกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ได้ทำสินค้าชุมชน ได้ทำการเกษตร ได้ทำบุญตักบาตร ซึ่งสอดคล้องกับการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่พบว่าเป็นคนลุย ๆ คนอยากเปิดโลกกว้าง คนชอบลองของใหม่ ๆ และคนชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้ผลวิจัยในเรื่องเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในขั้นของการเปรียบเทียบที่พบว่า คนไทยฯ มีการเปรียบเทียบในเรื่องกิจกรรมระหว่างการท่องเที่ยว และรายการนำเที่ยว อยู่ในระดับมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยฯ จะรับรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มีกิจกรรมการท่องเที่ยว แต่ก็ยังพบว่าคนไทยมีการรับรู้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่พักผ่อนอย่างเดียว โดยอยู่ในระดับมากเช่นกัน
ชอบใช้จ่าย ‘เงินสด’ มากกว่า ‘เครดิต’ แต่จองผ่านออนไลน์ก็ขาดไม่ได้ (1)
ผลวิจัยพบว่า เส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในขั้นของการซื้อ พบว่า คนไทยฯ ใช้จ่ายเงินการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ด้วยเงินสด หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของช่องทางทั้งหมด อาทิ โมบายแบงก์กิ้ง (mBanking) อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (iBanking) รวมถึงบัตรเครดิต เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลวิจัย พบว่า คนไทยฯ ใช้จ่ายเงินการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ด้วยเงินสด แต่ในขั้นการซื้อ คนไทยฯ ซื้อจองการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ทราเวลเอเยนต์ (เช่น Agoda / Expedia / Traveloka) ร้อยละ 29.95
‘เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม’ ช่องทางหลักที่คนไทยใช้ประกอบตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (2)
ผลวิจัยพบว่า สื่อที่คนไทยใช้ตลอดเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวมากที่สุด คือ “เฟซบุ๊ก” โดยพบว่าขั้นของการรับรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุด หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของสื่อทั้งหมด อาทิ ยูทูป พันทิป รวมถึงสื่อโทรทัศน์ เช่น รายการนำเที่ยว เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลวิจัยครั้งนี้ในเรื่องขั้นการมีส่วนร่วมที่พบว่า หลังจากมีการรับรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์แล้วคนไทยมีการแชร์ข้อมูลลงเฟซบุ๊กส่วนตัวมากที่สุด รวมถึงแชร์ข้อมูลลงกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook groups)
นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าในขั้นของการซื้อ คนไทยฯ ใช้วิธีการทักแชทผ่านเฟซบุ๊ก หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ขณะเดียวกันช่องทางที่คนไทยฯ ใช้ในการบอกต่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ พบว่ามีวิธีการบอกต่อในรูปแบบการโพสต์ภาพ หรือ วิดีโอ ลงเฟซบุ๊ก มากที่สุด เขียนรีวิวประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านเฟซบุ๊ก และโพสต์ภาพ หรือ วิดีโอ ลงเฟซบุ๊กกลุ่ม ซึ่งเฟซบุ๊กคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของช่องทางทั้งหมด
อย่างไรก็ดี นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว ผลวิจัยยังพบว่า สื่อที่คนไทยฯ มีการใช้ในตลอดเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยว คือ “อินสตาแกรม” โดยพบว่ามีการรับรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ผ่านช่องทางอินสตาแกรม เป็นอันดันสองรอบจากเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันในขั้นการมีส่วนร่วมยังพบว่า คนไทยมีการแชร์ข้อมูลลงอินสตาแกรม และในขั้นของการบอกต่อมีการบอกต่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ โดยการโพสต์ภาพ หรือ วิดีโอ ลงอินสตาแกรม และเขียนรีวิวประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านอินสตาแกรมด้วยเช่นกัน
นิยมหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ด้วยตนเอง (2)
แม้สื่อโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมจะเป็นช่องทางหลักที่กลุ่มเป้าหมายใช้ในการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ แต่ในขั้นของการมีส่วนร่วม ผลวิจัยพบว่า คนไทยฯ ยังมีพฤติกรรมในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ด้วยตนเองในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก โดยพบว่ามี การอ่านคอมเมนต์ใต้โพสต์ หารีวิวจากยูทูป หารีวิวจากพันทิป หาข้อมูลเพิ่มเติมทันที รวมถึงอินบ็อกไปสอบถามคนที่ไม่รู้จักแต่เคยไปเที่ยวโดยตรง
เปรียบเทียบ “ราคา-ที่พักรูปแบบอื่น-ความสะดวกและความปลอดภัย” เพื่อตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (3)
ผลวิจัยพบว่า คนไทยฯ เกินกว่าครึ่ง หรือ 66% จะมีการเปรียบเทียบก่อนจะตัดสินใจไปท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ทุกครั้ง โดยเคยมีประสบการณ์ในการเปรียบเทียบข้อมูลการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ด้านราคา มากที่สุด รองลงมา คือ เปรียบเทียบสิ่งอำนวยความสะดวก (เช่น ห้องพัก / ห้องน้ำ) ที่พักรูปแบบอื่น (เช่น โรงแรม / รีสอร์ต / บังกะโล / เกสต์เฮาส์) และเปรียบเทียบความปลอดภัย (เช่น ยุง / สัตว์มีพิษ) ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีหากแยกการเปรียบเทียบด้านความสะดวกและความปลอดภัยของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ จะพบว่า คนไทยฯ มีการเปรียบเทียบค่อนข้างมาก ซึ่งสอดคล้องกับการรับรู้เกี่ยวกับความสะดวกและความปลอดภัยของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่พบว่า คนไทยฯ รับรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นการท่องเที่ยวที่มีความสะดวกและความปลอดภัยค่อนข้างน้อย หรือโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น
หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์อยู่ที่ “เจ้าของ” (4)
ผลวิจัยพบว่า คนไทยฯ มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ค่อนข้างมาก โดยเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในขั้นของการซื้อพบว่า คนไทยฯ ซื้อจองการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ผ่านเจ้าของโดยตรงมากที่สุด (57.97%) หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ อาทิ บริษัทนำเที่ยว ให้คนอื่นจัดการให้ รวมถึงเว็บไซต์ออนไลน์ทราเวลเอเยนต์ (เช่น Agoda / Expedia / Traveloka) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ารูปแบบปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของโดยการใช้วิธีการโทรสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าของมากที่สุด รองลงมา คือ โทรสอบถามวิธีการชำระเงินโดยตรงกับเจ้าของ โอนจ่ายเงินมัดจำก่อน 30-50% กับเจ้าของ และโอนจ่ายเงินเต็มจำนวนเพื่อล็อกการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์กับเจ้าของ ตามลำดับ
ทั้งนี้ผลวิจัยครั้งนี้ในเรื่องขั้นตอนการซื้อซ้ำยังพบว่า คนไทยฯ จะตัดสินใจกลับไปท่องเที่ยวซ้ำจากการประทับใจการบริการของเจ้าของ มากที่สุด รองลงมาคือ เจ้าของโทรคุยถามไถ่เหมือนญาติพี่น้อง ขณะเดียวกันผลวิจัยยังพบว่า ในขั้นของการใช้ คนไทยฯ มีความคาดหวังว่า เจ้าของให้การต้อนรับอย่างมีมิตรไมตรี และเจ้าของบ้านถามไถ่ตลอดเวลา อยู่ในระดับมาก
คนไทยที่เคยเดินทางท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เลือกบอกต่อแต่เรื่องดีดี (4)
ผลวิจัยพบว่า คนไทยฯ เกือบทั้งหมดระบุว่า ได้มีการบอกต่อเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ สูงถึง 95.50% แต่ที่น่าสนใจคือมีประสบการณ์การบอกต่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ข้อเท็จจริงแบบไม่บวกไม่ลบ (49.50%) และ 49% บอกต่อในเชิงบวก หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของการบอกต่อทั้งหมดที่ไปอยู่ทางโซนบวกมากกว่าทางลบ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยแทบไม่มีการบอกต่อในประเด็นเชิงลบ
รู้ว่าไม่สะดวก แต่สัญญาณมือถือก็ขาดไม่ได้ (5)
แม้ผลวิจัยจะพบว่า คนไทยฯ มีการรับรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นคนง่าย ๆ และคนไม่ห่วงชีวิตลำบาก อยู่ในระดับมากที่สุดจริง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับผลวิจัยที่พบว่า คนไทยฯ รับรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่มีความสะดวกและความปลอดภัยในระดับปานกลาง โดยเป็นการท่องเที่ยวที่ต้องนอนพัดลม และการท่องเที่ยวที่ต้องนอนเสื่อและกางมุ้ง อยู่ในระดับมาก รวมถึงสอดคล้องกับการรับรู้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน หรือพูดโดยรวมว่าการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นการท่องเที่ยวที่มีความสะดวกสบายน้อย แต่ในด้านของเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวในขั้นของการใช้ คนไทยฯ มีความคาดหวังด้านสิ่งอำนวยความสะดวก คือ มีสัญญาณโทรศัพท์ น้ำไหล ไฟสว่าง และคาดหวังสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของความคาดหวังทั้งหมด
แนะ สื่อสารให้ตรงกลุ่ม-เจ้าของโฮมสเตย์ต้องมีส่วนร่วม-ระบบโทรคมนาคมต้องพร้อม ดึงกลุ่มเป้าหมายท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
นายขวัญ โม้ชา ผู้วิจัย ระบุว่า การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นการท่องเที่ยวที่มีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ มีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างมาก แตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น ๆ เพราะการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ต้องค้างแรมร่วมกับเจ้าของบ้าน และต้องเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน หรือ พื้นที่โดยรอบเท่านั้น ดังนั้นนักสื่อสารการตลาด ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ของประเทศ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจลักษณะ และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลการวิจัยชี้ชัดว่า คนไทยฯ หรือกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ยังคงนิยม หรือชื่นชอบการท่องเที่ยวลักษณะนี้อยู่ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวซ้ำ เรียกได้ว่ายังอยู่ในตัวเลือก หากมีปัจจัยสนับสนุน หรือกระตุ้นการให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวที่เพียงพอได้ โดยแนวทางการสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ควรเน้นการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของแต่ละบุคล ของแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารการตลาด และการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม ที่พบว่ากลุ่มเป้าหมายใช้ตลอดเส้นทางการตัดสินใจท่องเที่ยวมากที่สุด ขณะเดียวกันอาจจะต้องพิจารณาเนื้อหาการสื่อสารการตลาดโดยเน้นที่ไปเนื้อหาเชิงเปรียบเทียบมากขึ้น เช่น ด้านราคา ที่พักรูปแบบอื่น รวมถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เป็นต้น ทั้งนี้เจ้าของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในแง่การสื่อสารการตลาด การต้อนรับกลุ่มเป้าหมาย การดูแลกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการพูดคุยติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นยิ่ง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี และความประทับใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวซ้ำ รวมถึงสร้างการบอกต่อที่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภค และระบบโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน ทั้ง น้ำประปา ไฟฟ้า หรือแม้แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ต ไว้รองรับ เพราะกลุ่มเป้าหมายยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกข้างต้นอยู่ค่อนข้างมาก เพื่อใช้ประโยชน์จากการบอกต่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพราะส่วนใหญ่ยังนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียอยู่ ซึ่งจะต้องใช้งานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อนั่นเอง
ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์ อาจารย์ที่ปรึกษา ให้ความเห็นว่า “งานวิจัยชิ้นนี้มี 2 ขั้นตอน คือ การสนทนา กลุ่ม insight คนที่ไปเที่ยวโฮมสเตย์จริงๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบสอบถาม ผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า คนไทยให้คะแนน 4 กับ 5 คะแนน (เต็ม 5) ในเกือบทุกข้อคำถาม ชี้ให้เห็นชัดว่า คนที่ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มี ความคิดความอ่านในทิศทางเดียวกัน และมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีความเป็น niche market เป็นคนที่ใจ ดี ง่ายๆ สบายๆ ไม่คาดหวัง อยากสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเองมากกว่าฟังจากเพื่อน ยังใช้โทรศัพท์ติดต่อ เจ้าของ ใช้เฟซบุ๊กและไอจีเป็นหลักในการหาข้อมูล ชอบช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเจ้าของบ้าน ไม่บอกต่อเชิง ลบ จะเลือกบอกต่อในสิ่งดีๆ และพร้อมจะกลับไปเที่ยวซ้ำ”
“แม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจท่องเที่ยวไม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ได้ท่องเน็ตหาข้อมูลท่องเที่ยว บางคนลงรูปเก่าๆ เพื่อระลึกถึงทริปเก่าๆ เป็นการเที่ยวทิพย์ คนมีอัดอั้นและมีความต้องการเที่ยวอยู่เต็มเปี่ยม ดังนั้น ในช่วงจังหวะนี้ เราสามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในการสื่อสารการตลาดได้ โดยแบรนด์ ธุรกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจใช้โอกาสในนี้ในการกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายอยากกลับไปเที่ยวโฮมสเตย์อีก โดยอาจเล่าเรื่องผ่านภาพ หรือคำบอกเล่า ทำ infographic หรือแผนที่รวบรวมเส้นทางการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงอาจทำแคมเปญรำลึกถึงความหลัง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ รวมถึงนำเสนอทางเลือก/กิจกรรมใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เก็บเป็นคลังข้อมูลในใจ ทั้งนี้ เพื่อรอเวลาเปลี่ยนการ “เที่ยวทิพย์” ให้เป็น “เที่ยวไทย” ในที่สุด” ผศ.ดร.สุทธนิภา กล่าวทิ้งท้าย
ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์
มือถือ.092-439-8338
ที่มา: ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (AMSAR)