พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลงในโอกาสร่วมประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 25 ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2563
รองประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา อาทิ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมในฐานะผู้แทนไทยสำรองในคณะมนตรี คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง ผู้แทนกรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนในภูมิภาค และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรอื่นในลุ่มน้ำโขง ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มุ่งสู่พัฒนาที่ยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแม่น้ำโขงสายประธาน ก่อให้เกิดความผันผวนของระดับน้ำ และส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งไทยตระหนักถึงความร่วมมืออย่างดีจากประเทศสมาชิก ประเทศคู่เจรจา ประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา และองค์กรนานาชาติเพื่อตอบสนอง “การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง” รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันประโยชน์จากการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสะอาด อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และที่สำคัญคือการลดผลกระทบข้ามพรมแดน และเชื่อมั่นว่าการบูรณาการความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ในทุกระดับทั้งภายในและระดับภูมิภาคจะเป็นโอกาสและความท้าท้ายให้ MRC เป็นแกนกลางเชื่อมโยงประชากร สายน้ำและวัฒนธรรมผลักดันให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งมิตรภาพและสันติภาพ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผ่านกลไกการเจรจาหารือบนหลักการสำคัญที่ว่า “ภายใต้สายน้ำเดียวกัน สายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง สายน้ำแห่งมิตรภาพและสันติภาพ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวันนี้ มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระยะ 10 ปี (ปี 2564 – 2573) และแผนยุทธศาสตร์องค์กรคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568) ซึ่งจะเป็นกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงช่วง 10 ปีข้างหน้า เป็นกรอบในการดำเนินงานและจัดทำแผนปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยจะมีการเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ รักษานิเวศ การเข้าถึงน้ำและการใช้น้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือกับ 6 ประเทศแม่น้ำโขง 2.แผนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในปี 2564 – 2565 ซึ่งไทยเสนอให้คณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกำกับดูแลและให้คำแนะนำสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณตามความต้องการ ความจำเป็นและกิจกรรม 3.แผนยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2564 – 2568 จะช่วยพัฒนากลยุทธ์การจัดการสิ่งแวดล้อมและจัดลำดับความสำคัญในการเสริมสร้างการคุ้มครองสินทรัพย์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และ 4.แผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ซึ่งสอดรับกับนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาคมนาคมขนส่งทางน้ำในลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังร่วมเป็นสักขีพยาน
พิธีลงนามความตกลงเรื่องเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) ผ่านการประชุมทางไกล ระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) กับรัฐบาลแฟลนเดอร์ (Government of Flanders) ซึ่งเป็นรัฐบาลของส่วนภูมิภาคแฟลนเดอร์ในเบลเยี่ยม ที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในฐานะประเทศหุ้นส่วนการพัฒนากับทาง MRC โดยรัฐบาลแฟลนเดอร์จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อร่วมมือกับ MRC ในเรื่องเกี่ยวกับน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลแฟลนเดอร์มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยพัฒนาการเรื่องการจัดการน้ำในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและการค้าระหว่างไทยกับรัฐบาลแฟลนเดอร์ในอนาคตด้วย
ที่มา: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ